หลังจากที่ต้องพบเจอกับอากาศร้อนอบอ้าวกันมานาน ช่วงนี้ในหลายพื้นที่ก็เริ่มมีฝนตกให้ชุ่มฉ่ำกันบ้างแล้ว แต่ในหลายจังหวัดมาแรงหน่อย ต้องประสบกับปัญหากับพายุฝนกระหน่ำหรือพายุฤดูร้อนทำลายบ้านเรื่อนที่พักอาศัยเสียหายไปมากเช่นกัน และสิ่งหนึ่งที่มักมาพร้อมกับฝน คือ บรรดาสัตว์มีพิษทั้งหลาย อย่างเช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หรือแมงมุม และปัจจุบันสัตว์มีพิษเหล่านี้มีพิษที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงแนะนำสมุนไพรที่จะช่วยรับมือกับสัตว์มีพิษต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนถึงมือแพทย์
ตัวอย่างสมุนไพรที่จะช่วยต้านพิษ (สัตว์ร้าย) ชนิดหนึ่งได้แก่ เสลดพังพอน มีข้อมูลงานวิจัยพบว่า ช่วยต้านพิษจากสัตว์ได้มากที่สุดถึง 8 ชนิด คือ ผึ้ง ต่อ แตน ตะขาบ แมงป่อง มด ยุง งู ซึ่งการนำมาใช้สามารถใช้ได้ทั้งเสลดพังพอนตัวผู้ และเสลดพังพอนตัวเมีย โดยการใช้ใบที่ไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป ประมาณ 25-30 ใบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด แลให้คนที่ถูกงูหรือสัตว์มีพิษกัดเคี้ยวกลืนแต่น้ำ แล้วคายกากออกมาพอกแผล ใบเสลดพังพอนจะช่วยดูดพิษ และทำให้อาการปวดทุเลาลงภายในเวลา 30-45 นาที หรือจะใช้ส่วนราก ซึ่งมีรสจืดเย็น ฝนกับสุราดื่ม และทาแก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษตะขาบ แมลงป่อง
โลดทะนงแดง บรรดาหมอพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาพิษงูหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย ต้องรู้จักประโยชน์และการใช้ประโยชน์ของสมุนไพรโลดทะนงแดงเป็นอย่างดี เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีความโดดเด่นในการถอนพิษสัตว์ร้ายได้ดีมาก บางรายมีพิษตกค้างสะสมในร่างกายเป็นเวลานานหลายปี แต่เมื่อได้รับการรักษาจากหมอพื้นบ้านผู้เชี่ยวชาญโดยการใช้โลดทะนงแดงถอนพิษ อาการที่เกิดจากพิษนั้นก็หายลุล่วงด้วยดี ซึ่งวิธีการใช้ในการรักษาพิษ ก็คือ หมอพื้นบ้านจะใช้ส่วนของรากโลดทะนงแดงฝนกับน้ำมะนาว หรือผสมกับเมล็ดหมาก ดื่มและทาแผลแก้พิษงู ตะขาบ หรือแมงมุมพิษ
ปัจจุบันมีการใช้ตำรับยาโลดทะนงแดง ในผู้ป่วยที่โดนงูเห่ากัดที่โรงพยาบาลกาบเชิง โดยได้มีการนำตำรับยาโลดทะนงแดงมารักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัดตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งดั้งเดิมเป็นสูตรหมอพื้นบ้าน ส่วนที่นำมาเป็นยา คือ ส่วนราก มีผลยับยั้งประสิทธิภาพการทำงานของพิษงูเห่า โดยนำรากมาฝนและใช้ร่วมกับผงบดของผลหมากสุกที่แห้งแล้ว แล้วนำมาผสมน้ำมะนาว ใช้พอกที่แผลงูกัด และผสมน้ำดื่มเพื่อช่วยขับพิษ ขณะนี้ ทางโรงพยาบาลได้พัฒนาวิธีการใช้ในการรักษาให้สะดวก รวดเร็ว โดยบดรากโลดทะนงแดงเป็นผงแห้ง สามารถนำมาผสมกับผงหมากสุกแห้งและน้ำมะนาวใช้ได้ทันทีเมื่อมีผู้ป่วย
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ศึกษาวิจัยใช้ตำรับยาโลดทะนงแดง รักษาตำรวจตะเวนชายแดน จ.สุรินทร์ 36 นาย ที่ถูกงูเห่ากัด พบว่าได้ผลดี ไม่มีการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว และไม่พบผลข้างเคียง ในการรักษาพิษงูเห่าดังกล่าวไม่ใช้เซรุ่มแก้พิษงูแต่อย่างใด จนถึงขณะนี้ โรงพยาบาลได้ใช้ตำรับยาโลดทะนงแดงรักษาประชาชนที่ถูกงูเห่ากัดปแล้วประมาณ 80 ราย ทุกรายปลอดภัย ปัจจุบันตำรับยาโลดทะนงแดงของโรงพยาบาลกาบเชิง ได้นำไปใช้เป็นยาช่วยชีวิตขั้นต้นที่ห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาสมุนไพรจะนอนโรงพยาบาล 1-2 วัน และขณะนี้ได้นำสมุนไพรโลดทะนงแดงไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัดในภาคใต้ คือ โรงพยาบาลท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นแบบการให้บริการแพทย์แผนไทยแบบครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีระบบการส่งเสริมการผลิตยาในโรงพยาบาลและการใช้ในโรงพยาบาล และในชุมชนอีกด้วย
กระดูกไก่ดำ ให้นำรากและใบนำมาตำผสมกัน ใช้เป็นยาพอกถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษงู ผึ้ง ต่อ แตนต่อย เป็นต้นตะขาบบิน หรือตะขาบหิน ใช้ถอนพิษแมงป่อง และตะขาบกัดต่อย ช่วยแก้ฟกช้ำบวมได้เป็นอย่างดี โดยชาวบ้านมักใช้ต้นและใบสด ตำผสมเหล้า หรือน้ำซาวข้าว คั้นเอาน้ำใช้ทา และเอากากพอกบริเวณที่ถูกกัดต่อย
หอมแดง เป็นสมุนไพรที่หาง่ายที่สุดเพราะมีใช้กันทุกครัวเรือน สามารถใช้แก้พิษแมงมุม โดยมีประสบการณ์การบอกเล่าของผู้ป่วยที่ไปหาหมอแผนโบราณ โดยหมอให้เอาหัวหอมแดงทุบให้บุบ ผสมกับยาหม่องใช้ทาบริเวณที่โดนกัด และให้รับประทานด้วย ทำทุกๆ 5-10 นาที ประมาณ 3-4 ครั้ง อาการดีขึ้นอย่างน่าประหลาด ที่เป็นช่นนี้ก็เนื่องมาจาก แมงมุมเป็นสัตว์พิษเย็นจึงต้องใช้ของร้อนอย่างหอมแดงแก้พิษ และเร่งสรรพคุณด้วยยาหม่องจึงสามารถช่วยขับพิษออกไปได้
ตำลึง สามารถนำใบหรือใช้ทั้งต้น มาตำหรือขยี้ หรือฝนกับเหล้าขาวแล้วนำมาพอก แก้พิษตะขาบ ผึ้ง มดแดง มดคันไฟ
อย่างไรก็ตามหากโดนงูกัด หรือโดนพิษของสัตว์อย่างรุนแรง เช่น ผึ้งจำนวนมากต่อย เบื้องต้นแนะนำว่าให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วนเป็นอันดับแรก เพราะบางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องให้ยาทางเส้นเลือดโดยเร็วก่อนจะเกิดอันตรายขึ้น หรือเราอาจไม่ทราบชนิดงู และการรักษาอาจมีความจำเป็นต้องใช้เซรุ่มเพื่อช่วยชีวิตก็เป็นได้
ภาพจาก- www.nanagarden.co,knowledgeintheword.org,www.samunpri.comและ www.biogang.net