ผ่านร่างพ.ร.บ.พลังนิวเคลียร์ฯ
เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย
สนช.ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ….ด้วยคะแนน 144 ต่อ 1 งดออกเสียง 5 เสียง เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย ระบุ ร่างพรบ.ใหม่ การแก้ไขทั้งหมด ๑๗ มาตรา จำเป็นต้องปรับแก้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความมั่นคงความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม จะมีผลใช้บังคับหลัง ๑๘๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (๑๙ พ.ค. ๒๕๕๙) ซึ่งมี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. …. โดยมีการพิจารณา ๒ วาระ คือวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ วาระที่ ๒ เป็นการพิจารณาส่วนที่กรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ….พิจารณารายมาตรา และมีการแก้ไข ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอ และได้มีการปรับแก้บางส่วนด้วย
ส่วนวาระที่ ๓ เป็นการพิจารณาว่า เห็นควรให้ร่างพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน ๑๔๔ เสียง ไม่เห็นด้วย ๑ เสียง งดออกเสียง ๕ เสียง พร้อมประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับหลัง ๑๘๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายนี้มีทั้งหมด ๑๕๒ มาตรา มีการแก้ไขทั้งหมด ๑๗ มาตรา คือ มาตรา ๑ มาตรา ๒ มาตรา ๔ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๕๖ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๘ มาตรา ๙๕ มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๒๙ มาตรา ๑๓๓ มาตรา ๑๓๔ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๓ มาตรา ๑๕๒ และอัตราค่าธรรมเนียม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทุกมาตรา
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ (ฉบับเดิม) ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความมั่นคงความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองกฎหมายและสนธิสัญญา สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ ๓๔๑๓