ผู้ผลิตอาหาร-สธ.สร้างผลิตภัณฑ์
ติดฉลากโภชนาการ-สกัดNCDs
มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุข ระดมสมองผู้ประกอบการเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ลดมัน เค็ม หวาน เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมต่อเนื่องฟรี ที่ประชุมสรุปพร้อมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เดือนก.ย.2559 และให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ติดป้ายสัญลักษณ์โภชนาการในท้องตลาดได้ต.ค.59
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2559 เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการป้องกันปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา
จากเหตุดังกล่าวจึงจัดทำเกณฑ์สารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการที่ใช้ประกอบการพิจารณารับรองการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการ(Healthier Logo) ที่สามารถเข้าใจได้ง่ายว่า มีปริมาณสารอาหารในเรื่องความมัน หวานและเค็มอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เวลานี้มีกลุ่มอาหารที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว 3 กลุ่ม ดังนี้ อาหารมื้อหลัก , เครื่องดื่ม อาทิ น้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่าง ๆ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำธัญพืช และเครื่องปรุงรส อาทิ น้ำปลา และ ซีอิ้ว ซึ่งในเร็วๆนี้จะได้เพิ่มอีกเป็นกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและกลุ่มผลิตภัณฑ์นม
“การใช้สัญลักษณ์โภชนาการแบบนี้ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายว่า อาหารที่เลือกซื้อเป็นประโยชน์ ซึ่งมีหลายประเทศนำมาใช้แล้ว เช่น สิงคโปร์และหลายประเทศในยุโรป”
สำหรับจัดการประชุมผู้ประกอบการด้านอาหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้เพื่อให้รับทราบการใช้ตรารับรองสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) และร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นแนวทางการประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่ามีผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการออกสู่ท้องตลาดแล้ว สามารถเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมต่อสุขภาพ รวมทั้งหวังให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ตราสัญลักษณ์นี้บนฉลากผลิตภัณฑ์ และให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองสามารถผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็วและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
“การประกาศฯ ใช้สัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารนี้ ผู้ประกอบการให้ความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดีกับภาครัฐ พร้อมที่จะปรับสูตรอาหารให้เข้าตามหลักเกณฑ์ ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ดังกล่าวจำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ จาก 9 บริษัท แยกเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม 22 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเครื่องปรุงรส 2 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าหลังจากมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ และมีการประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบในเดือนกันยายน หลังจากนั้นประชาชนจะสามารถซื้อหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากโภชนาการได้ราวเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ทั้งนี้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กล่าวคาดหวังว่า จะมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองฉลากโภชนาการเพิ่มมากขึ้นและว่า อย. เชื่อมั่นว่าการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ลดปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ
ด้านดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการที่มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินการจัดทำสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพได้อย่างรวดเร็วนั้น ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ความสำคัญกับความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน ในการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารกับประชาชนผู้บริโภคทั่วไป ให้เกิดความตระหนักถึงการบริโภคอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ประโยชน์ที่สำคัญที่อย.ต้องการ คือ ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารทุกรายได้หันมาร่วมกันปรับสูตรลด หวาน มัน เค็ม ผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใดที่ได้รับรองมาตรฐาน ก็จะได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier logo) ทางเลือกสุขภาพ นำไปติดที่ฉลากผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการก็จะได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค ในเรื่องของความปลอดภัย ปลอดโรค สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ ส่วนผู้บริโภคเมื่อเกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ ก็จะหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น
ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต นักวิชาการอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับรองการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการ ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมสามารถสมัครได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถสมัครและขออนุญาตได้จนถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2559 หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ http://healthierlogo.com หรือ www.ทางเลือกสุขภาพ.com หรือที่อีเมล Info.thaihealthier@gmail.com
อนึ่งสำหรับปัญหาโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวานมีแนวโน้มเป็นโรคที่ประชาชนชาวไทยป่วยกันเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้