ปฏิทินข่าว.กรมปศุสัตว์-ภาคีOIE
จัดประชุมการศึกษาสัตวแพทย์
กรมปศุสัตว์และภาคีเครือข่ายเตรียมจัดการประชุมนานาชาติด้านการศึกษาทางสัตว์แพทย์ ครั้งที่ 4 (4th OIE Global Conference on Veterinary Education)ร่วมกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ระหว่าง 22-24 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อร่วมพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนให้ทันยุคสมัย สร้างความเข้มแข็งการศึกษาด้านวิชาการสัตวแพทย์ สู่การปรับปรุงงานด้านสัตวแพทย์บริการอย่างยั่งยืนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปูทางประชากรทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนคณะสัตวแพทย์ สัตวแพทยสภา และสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านวิชาการทางสัตวแพทย์บริการ ตลอดจนการป้องกันโรคจากสัตว์สู่คนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 180 ประเทศทั่วโลก ประมาณ 500 – 600 คน
ที่ผ่านมาOIE ได้มีการจัดการประชุมนานาชาติด้านการศึกษา ทางสัตวแพทย์โลก มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2552 การประชุมครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2554 ที่ เมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส สำหรับครั้งที่ 3 จัดที่เมืองฟอสโดอีกวาซู (Foz de Iguazu) ประเทศบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ ในปี 2556 และในปี 2559 นี้ประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ
การประชุมจะมีการติดตามความคืบหน้าของผลการประชุมครั้งที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของการศึกษาด้านสัตวแพทย์ทั่วโลก รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของOIE ด้านขีดความสามารถของบัณฑิตสัตวแพทย์ และหลักสูตรหลักของการศึกษาด้านสัตวแพทย์
จะมีการหารือเรื่องโครงการจับคู่ (OIE Twinning Programme) ของสถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์ และการจับคู่ของสัตวแพทยสภา ในประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น อันจะนำไปสู่พัฒนาการด้านการศึกษาที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งการใช้การประเมินสมรรถนะของงานสัตวแพทย์บริการ (OIE PVS Pathway) มาประกอบในประเมินคุณภาพการศึกษาด้านสัตวแพทย์ของประเทศ ก็จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงด้านธรรมาภิบาลดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาด้านสัตวแพทย์และการหารือในหัวข้อสำคัญ ๆ หลายอย่าง
หัวข้อที่น่าสนใจในการประชุม อาทิ
-“ความก้าวหน้าของการศึกษาด้านสัตวแพทย์ในระดับโลก” (Veterinary Education: Global Progress)
-“สถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างไร จึงจะสามารถผลิตบัณฑิตสัตวแพทย์ที่มีขีดความสามารถตามที่กำหนด
-หลักสูตรหลักที่ใช้ในการศึกษาสัตวแพทย์ (How to support VEEs to implement Day 1 Competencies and the Model Core Curriculum) -“การพัฒนาทักษะอื่นที่จำเป็น เช่น การเป็นผู้นำ การสื่อสาร เศรษฐศาสตร์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Improving other important skills such as leadership, communication, economics and lif-long learning)
– “หลักปฏิบัติที่ดีในการเรียนการสอนในยุคข้อมูลข่าวสาร” (Best teaching practices in the information age)