สวทช.-กรมอุทยานฯ-มอ.-ตรัง
ใช้วิทย์คุมหาดหยงหลำ-เกาะมุก
สวทช. ร่วมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และจังหวัดตรังลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนา “โครงการบูรณาการทางวิชาการเพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน บริเวณหาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม” วิจัยและบริหารจัดการในพื้นที่หาดฯด้วยวิทย์-เทคโนฯ อนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญอย่าง หญ้าทะเลและสัตว์ป่าสงวนพะยูนที่คาดว่าเหลืออยู่ประมาณ 210 ตัว เป็นประโยชน์ด้านท่องเที่ยวและชุมชนอย่างยั่งยืน
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ด้วยความสำคัญของระบบนิเวศในพื้นที่หาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม จังหวัดตรัง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ จังหวัดตรัง จึงได้มีการหารือร่วมกันในการพัฒนา ‘โครงการบูรณาการทางวิชาการเพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน บริเวณหาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม’ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการวิจัยและการบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในลักษณะองค์รวม มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญ (แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุด) และสัตว์ป่าสงวน (พะยูนฝูงใหญ่ที่สุด) รวมทั้งสัตว์หน้าดิน (ปลิงทะเล ม้าน้ำ หอยตะเภา หอยมือเสือ) เพื่อให้โครงสร้างของทรัพยากรธรรมชาติมีความสมดุลและมีการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้เหมาะสมกับความต้องการของอุทยานฯ อย่างยั่งยืนกับบริบทของชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) นอกจาก 4 หน่วยงานหลักที่ลงนามร่วมกันเพื่อทำงานในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ยังได้รับร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพันธมิตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อร่วมกันนำเทคโนโลยีและวิธีการวิจัยใหม่ๆ มาใช้ในการวิจัยพื้นที่ทั้งในมิติของการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากชุมชน ซึ่งผลจากความร่วมมือครั้งนี้ คาดว่าจะได้แนวทางการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล พะยูน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล ตลอดจนส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน”
“ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการทรัพยากรชีวภาพมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางใหม่ๆ เพื่อการสำรวจติดตามทรัพยากรชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ เช่น พะยูน หรือหญ้าทะเล โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System) หรือแม้แต่การติดตามกระแสน้ำและการหมุนเวียนของตะกอนในทะเล รวมไปถึงการติดตามสภาวะแวดล้อมทางทะเล ที่จำเป็นต้องใช้แบบจำลองทางสมุทรศาสตร์ และการติดตามแบบ real time เข้ามาช่วย ทำให้การศึกษาสภาวะแวดล้อมทางทะเลมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นายเฉลิมชัย ปาปะทา รักษาการรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งมีความหลากหลายของระบบนิเวศน์ครบถ้วน โดยหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก มีกำลังเจ้าหน้าที่จำกัด และต้องปฏิบัติงานในครอบคลุมทุกด้านและทุกเรื่องในเวลาเดียวกัน ตามภารกิจหลักประกอบด้วย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนตลอดไป การศึกษาวิจัยและห้องทดลองทางธรรมชาติวิทยา รวมทั้งการจัดการการท่องเที่ยวในลักษณะการสื่อความหมายธรรมชาติและนันทนาการ ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญทุกด้าน
ดังนั้นภารกิจในด้านการศึกษาวิจัยทางวิชาการ และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จำเป็นต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้เฉพาะด้านจากสถาบันการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้เข้ามาร่วมงานทางด้านวิชาการ และร่วมกันกำหนดเป้าหมายการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในลักษณะองค์รวม ที่สำคัญคือ ความจำเป็นที่ต้องให้องค์ความรู้ทางวิชาการมาเป็นข้อมูลชี้นำในการวางแผนเพื่อการจัดการอย่างเป็นระบบ”
ด้านนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ในบทบาทหน้าที่ของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รับผิดชอบในการสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัย และการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่ทางภาคใต้ ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ได้รับการจดทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย และของโลก เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย และใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน”
นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า “บริเวณชายฝั่งทะเลในพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีความสำคัญทั้งในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาคอาเซียน ระดับประเทศ จนถึงระดับชุมชนชายฝั่ง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล ประเทศไทยได้รับการโหวตเป็นอันดับที่ 2 สำหรับ Top snorkeling in Pacific and Indian Ocean และได้รับการโหวตเป็นอันดับที่ 5 สำหรับ Top Value Dive Destination in Pacific and Indian Ocean รายได้ของประเทศไทยที่มาจากการท่องเที่ยวทางทะเลในฝั่งภาคใต้อันดามันที่ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา และตรัง มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2556 เศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.25 แสนล้านบาทต่อปี การท่องเที่ยวของจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันจึงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จังหวัดตรังจึงเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานในพื้นที่ ส่งเสริมและบูรณาการ รวมทั้งนำความรู้จากการวิจัยไปส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัด”
สำหรับหาดหาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar site) ลำดับที่ 1128 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งทางบก ชายฝั่งทะเล และในทะเล รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 32,000 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบไปด้วย ระบบป่าดิบชื้น ระบบป่าชายหาด ระบบป่าชายเลน ระบบชายหาด ระบบหญ้าทะเล ระบบปะการัง ระบบน้ำทะเล ระบบน้ำกร่อย และระบบน้ำจืด ทำให้พื้นที่มีความหลากหลายของสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ผสมผสานทางสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ของหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะท่ามกลางสภาวะโลกร้อน หญ้าทะเลมีบทบาทสำคัญการตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
ในการศึกษาความสามารถในการปรับตัวและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของหญ้าทะเล มีรายงานพบอัตราการสะสมคาร์บอนในแหล่งหญ้าทะเลมากถึง 83 กรัมต่อตารางเมตรต่อปี ซึ่งค่าดังกล่าวมากกว่าอัตราการสะสมคาร์บอนของระบบนิเวศบนบกและมีค่ามากถึงร้อยละ 10-18 ของคาร์บอนทั้งหมดที่สะสมในทะเล นอกจากนี้โครงสร้างของหญ้าทะเลยังช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำซึ่งเอื้อต่อการตกตะกอนของอนุภาคแขวนลอยต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงอินทรียวัตถุจากแหล่งอื่นๆ เช่น ป่าชายเลน สาหร่าย แพลงก์ตอนพืช เป็นต้น หญ้าทะเลยังเป็นแหล่ง “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ของชุมชน การประเมินมูลค่าหญ้าทะเลจากการใช้ประโยชน์ด้านประมงของชุมชนเกาะลิบง จ.ตรัง พบมูลค่ารวม 12.5 ล้านบาทต่อปี หญ้าทะเลยังให้บริการทางระบบนิเวศปีละประมาณ 19,000 ดอลลาร์ต่อเฮกแตร์ต่อปี การดูแลรักษาหญ้าทะเลจึงเป็นภารกิจที่สำคัญของประเทศ
นอกจากนี้หญ้าทะเล ยังเป็นแหล่งอาหารให้กับพะยูน สัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 15 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดเดียวที่เป็นสัตว์น้ำ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตอบอุ่น พะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหารหลักเกือบร้อยละ 100 ในอัตรา 25 กิโลกรัมเปียก/ตัว/วัน อายุยืนยาวประมาณ 70 ปี สถานะของพะยูนในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้พฤติกรรมการหากินเปลี่ยนไปกลายเป็นมักจะหากินเพียงลำพังตัวเดียว ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงที่เดียวในประเทศไทย คือ บริเวณหาดเจ้าไหม และรอบๆ เกาะลิบง จังหวัดตรัง เท่านั้น และอาจเป็นไปได้ว่ายังพอมีเหลืออยู่แถบทะเลจังหวัดระยอง แต่ยังไม่มีรายงานที่มีข้อมูลยืนยันถึงเรื่องนี้เพียงพอ
มีรายงานว่า ประชากรพะยูนที่หลงเหลืออยู่มากที่สุดอยู่ที่ออสเตรเลีย ประมาณ 20,000 ตัว พบมากที่สุดที่อ่าวชาร์ก ทางภาคตะวันตกของประเทศออสเตรเลียประมาณ 10,000 ตัว คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของประชากรพะยูนทั่วโลก เพราะเป็นสถานที่อุดมไปด้วยหญ้าทะเล สำหรับในประเทศไทยแหล่งอาศัยแหล่งสุดท้ายของพะยูน คือ ทะเลจังหวัดตรัง บริเวณเกาะลิบงพบมากที่สุด คาดว่ามีราว 210 ตัว ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจในเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 โดยเฉพาะที่เกาะลิบงนั้นเป็นที่อาศัยของพะยูนในประเทศมากถึงร้อยละ 60-70 แต่ปัจจุบันถูกคุกคามอย่างหนัก โดยมีการล่าเอาเนื้อ กระดูก และเขี้ยว ไปขายตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ มีการคำนวณว่าหากพะยูนในน่านน้ำไทยตายปีละ 5 ตัว พะยูนจะหมดไปภายใน 60 ปี