วช.-สอศ.นำร่องภาคเหนือจ.น่าน
“ประกวดสิ่งประดิษฐ์สายอาชีวะ”
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำหนดจัดกิจกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา ใน 4 ภูมิภาค : ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 9 – 10 มิถุนายน 2559 ณ วิทยาลัยเทคนิคน่าน จังหวัดน่าน โดย นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน เครื่องกรอเส้นด้ายงานถัก ผลงาน วิทยาลัยเทคนิคลำพูนคว้ารางวัลดีเด่นผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวะ
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับ สอศ. จัดกิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษาขึ้น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน นักวิจัย นักประดิษฐ์ในสายอาชีวศึกษา ได้มีการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยหลายปีที่ผ่านมา ได้นำผลงานไปประกวด และรับรางวัลในเวทีนานาชาติมาแล้วหลายรางวัล และผลงานยังได้รับการสนับสนุนในกิจกรรมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและชุมชน
นอกเหนือจากนั้นยังมีการผลักดันผลงานวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นให้มีการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากฐาน ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาสามารถนำไปซื้อขายได้ในภาครัฐ และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยบัญชีสิ่งประดิษฐ์จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะพัฒนาผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต
สำหรับการจัดงานในปีนี้ กำหนดจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค ครั้งแรกที่ภาคเหนือ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 9-10 มิถุนายน 2559 ณ วิทยาลัยเทคนิคน่าน จังหวัดน่าน ครั้งที่ 2 ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2559 ณ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ จังหวัดกระบี่ ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่าง วันที่ 7-8 กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และครั้งสุดท้าย วันที่ 27-28 กรกฎาคม 2559 ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
การจัดงานในครั้งนี้ มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 33 สถาบัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 444 คน มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด จำนวน 96 ทีม โดยได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์จำนวน 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร2.กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3. กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปะและการออกแบบ และ 4. กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
สำหรับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ และ รางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับเงินรางวัลพร้อมเกียรติบัตรจากเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ การจัดกิจกรรมดังกล่าว คาดว่าจะเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงานของนักศึกษาและอาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษาให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการเกิดเครือข่ายด้านการประดิษฐ์คิดค้นระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ในสถาบันอาชีวศึกษาอีกด้วย
ผลการตัดสินปรากฎว่า รางวัลข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษาประจำปี 2559 ภาคเหนือ มีดังนี้
รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ เครื่องสาวไหม mini ผลงาน วิทยาลัยเทคนิคพะเยา
รางวัลระดับดีมาก ได้แก่ สมุนไพรปรับอากาศ ผลงาน วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง
รางวัลระดับดี ได้แก่ เครื่องเพาะเมล็ดพันธุ์พืชระบบอัลตราโซนิค ผลงานวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่
รางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา ประจำปี 2559 ภาคเหนือ
รางวัลดีเด่น ได้แก่ เครื่องกรอเส้นด้ายงานถัก ผลงาน วิทยาลัยเทคนิคลำพูน
รางวัลดีมาก ได้แก่ เครื่องตัดและบากตาท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง วิทยาลัยการอาชีพขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร
รางวัลระดับดี1. อุปกรณ์เข้าขอบยางกระจก วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก
รางวัลระดับดี2. เครื่องกรอเส้นด้ายด้้วยระบบไฟฟ้าขนาดเล็ก วิทยาลัยเทคนิคลำพูน
รางวัลประกาศเกียรติคุณ1. เครื่องแจ้งเตือนคาร์บอนมอนอออกไซด์ในรถยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสารภี จ.เชียงใหม่
รางวัลประกาศเกียรติคุณ2. เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์แบบ 105 หลุม วิทยาลัยเทคนิคตาก
รางวัลประกาศเกียรติคุณ3. อุปกรณ์ตีผังงานก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคตาก
รางวัลชมเชย1. เครื่องเก็บข้าวเปลือกจากลานตาก วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร
รางวัลชมเชย2. พานพุ่มสักการะจากการขดสานดอกไม้ไผ่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่
ส่วนหนึ่งของผลงานนักศึกษาอาชีวะที่นำมาแข่งขัน