สวทช.ผนึกสสส.-ภาคีเครือข่าย
หนุน “นวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม”
ซอฟต์แวร์พาร์คและสวทช. กระทรวงวิทย์ฯ ร่วมกับสสส.และภาคีเครือข่าย มอบทุนผู้เข้าร่วม “โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม: Active Citizen: Geek so Good” รวมมูลค่ากว่า 5 แสนบาทเพื่อนำพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใช้ได้จริงเพื่อแก้ปัญหาในสังคมต่อไป มีทั้งสิ้น 14 ทีม แต่มี 4 ทีมได้รับทุนต่อยอด ผลงานที่ได้รับคัดเลือกอาทิ ผลงาน เว็บไซต์แนะนำหางานสำหรับผู้พิการ ทีม Enabled จากจุฬาฯ ผลงาน“เครื่อง ขอ.ขวด” จากม.แม่โจ้และ“เครื่อง ขอ.ขวด” ของทีม CSMJU78 จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค และ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมพิธีมอบทุนผู้เข้าร่วม “โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม: Active Citizen: Geek so Good” อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. สสส. โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ บริษัทไมโครซอฟต์(ประเทศไทย) จำกัด และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม: Active Citizen: Geek so Good” เป็นการบ่มเพาะนวัตกรรม พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนถึงปัญหาสังคม และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคม
ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้าง Startup ในด้าน Social Enterprise ที่มีการนำเทคโนโลยีเป็นฐานในการประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาสังคมมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการที่มีไอเดียดีๆ หลายด้าน ทั้งด้านการช่วยเหลือผู้สูงอายุ การป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิต การเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย การวัดพฤติกรรมการขับขี่รถยนต์ รถโดยสารแบบเรียลไทม์ การให้ความช่วยเหลือผู้เดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มสตรีเพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การส่งเสริมการจัดการขยะอัจฉริยะในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สมุดวัคซีนประจำตัวในมือถือ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้เข้าร่วมโครงการเล็งเห็นและนำเสนอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีและแอปพลิเคชันให้ประชาชนในสังคมได้ใช้เทคโนโลยีที่สะดวก มาเป็นทางเลือกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบัน
“ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนต่อยอดนวัตกรรมได้ ทั้ง 4 ทุน สวทช. มีกลไกการสนับสนุนให้ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ อาทิ การนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดด้วยการร่วมงานแสดงสินค้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ในโครงการได้นำผลิตภัณฑ์เสนอออกสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รับคำติชมเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือเชื่อมโยงผลงานต่างๆ ในโครงการฯ เข้าสู่ศูนย์แห่งชาติของ สวทช. และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานออกแบบ วิเคราะห์ และทดสอบ ของ สวทช. ซึ่งถือเป็นการช่วยเสริมความเป็นเลิศด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
นอกจากนั้นแล้วยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่างๆ เช่น เพิ่มทักษะการนำเสนอสินค้า ในภาษาที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเข้าใจได้ง่าย เพื่อจูงใจและสร้างความสนใจในตัวสินค้าเพื่อการตัดสินใจซื้อ โดยจะมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (BIC) เป็นพี่เลี้ยงในการเริ่มต้นธุรกิจให้กับน้องๆ ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ สวทช. เตรียมไว้เพื่อสนับสนุนโครงการ” ผู้ช่วย ผอ. สวทช.กล่าว
ทีม Enabled จากจุฬาฯ
ภายหลังการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการครบทั้งหมด14ทีม ผลปรากฎว่า 4 ทีมที่ได้รับทุนเพื่อต่อยอดนวัตกรรมสู่การนำไปใช้จริง ได้แก่ 1.ผลงาน “เว็บไซต์แนะนำการหางานสำหรับผู้พิการ” ของทีม Enabled จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางช่วยหางานสำหรับผู้พิการ ให้ตรงกับความต้องการของผู้พิการและผู้จ้างงาน เพื่อพัฒนาคนพิการสู้ตลาดสากล
ทีม CSMJU78 จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
2. ผลงาน “เครื่อง ขอ.ขวด” เปลี่ยนขวดเป็นเงิน เพื่อเด็กกำพร้าและยากไร้ ของทีม CSMJU78 จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แพลตฟอร์มเพื่อสังคมด้วยการเปลี่ยนขยะขวดพลาสติกเป็นเงินด้วยเครื่อง “ขอขวด” เพื่อให้ประชาชนที่บริจาคขวดสามารถสะสมแต้มรับสินค้า รายได้ส่วนหนึ่งหักให้กับมูลนิธิแสงไทยดรุณเพื่อเด็กกำพร้า ยากไร้
ทีม Prime Soft จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
3. ผลงาน “วัคซีน พ๊อกเก็ต” (Vaccine Pocket) ของทีม Prime Soft จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แอปพลิเคชันบันทึกการรับวัคซีนสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี สำรองข้อมูลบนระบบคลาวด์ โดยสามารถแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนดรับวัคซีนครั้งต่อไป และ
4. ผลงาน “Light Life” ของทีม You light up! my life จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น แอปพลิเคชันสำหรับป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการพยายามทำร้ายตนเอง พร้อมทั้งคำแนะนำในการปฏิบัติตนให้พ้นจากภาวะเสี่ยง บทความให้กำลังใจ รวมถึงสายด่วนสุขภาพจิตที่สามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้
นอกจากนั้นแล้วยังได้มีการมอบทุนๆ 20,000 บาทให้กับทั้ง 14 ทีมที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในครั้งนี้ เพื่อนำไปเป็นทุนในการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ รวมมูลค่าทุนทั้งสิ้นกว่า 5 แสนบาทด้วย
ด้านนางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค และผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สวทช. กล่าวว่า โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม Active Citizen : Geek so Good นี้เป็นการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยน่าอยู่ มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มนักเทคโนโลยีคนรุ่นใหม่ ให้สร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งสอคคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของซอฟต์แวร์พาร์ค ที่ส่งเสริมให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมาหลายปีอย่างต่อเนื่อง และยังสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะได้รับการอบรม การให้คำปรึกษาเพื่อผลักดันให้ผลงานพร้อมที่จะขยายผลใช้งานได้จริง ที่สำคัญมีทุนสนับสนุนสำหรับผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาและช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมสูงสุดด้วย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เชื่อว่าพลังพลเมืองสร้างสรรค์ของเหล่าเยาวชน หรือ Active Citizen ในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ โดยมีแอปพลิเคชันที่น่าสนใจและถูกริเริ่มด้วยแนวคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมโดยกลุ่มเยาวชน อาทิ แอปพลิเคชันโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสร้างเครื่องมือเพื่อสังคมนักปั่นจักรยานที่รวบรวมทริปปั่นจักรยาน โดยผู้ใช้งาน สามารถสร้างเส้นทางปั่นจักรยานและแชร์ผ่านไปยังโซเชียลมีเดีย มีฟังก์ชั่นที่ช่วยติดตามผลการออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์
หรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่สร้างแอปพลิเคชันนับก้าว เพื่อช่วยให้การออกกำลังกายไม่ให้น่าเบื่ออีกต่อไป ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานได้ออกกำลังกายจากการเดิน
เพราะเราเชื่อว่าสังคมเปลี่ยนแปลงได้จากพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน Active Citizen Project หรือติดตามได้ที่ FB/ThailandActiveCitizen