เวทีเกษตร..กรมการข้าว-สวทช.
หนุนม.บ้านพันธุ์ข้าวคุณภาพพัทลุง
ต้องยอมรับกันว่า “ข้าว” เป็นพืชอาหารหลักและส่งออกหลักที่ชาวไทยจำเป็นต้องรักษาพัฒนาให้มีคุณภาพดีอย่างยั่งยืนตลอดไปและเป็นที่น่าดีใจว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายร่วมมือกันเพื่อพันธกิจดังกล่าว ดังเมื่อเร็ว ๆนี้ “กรมการข้าว” ได้ร่วมกับ “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิด “หมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแห่งที่ 21” ณ จ.พัทลุง ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้เพียงพอความต้องการของเกษตรกรไทยและก่อเกิดธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้“หมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแห่งที่ 21” เป็นผลงานต่อเนื่องของโครงการ “การส่งเสริมระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี” ที่มีการดำเนินการแบบครบวงจร เริ่มต้นตั้งแต่ การพัฒนาศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชน การอบรมผู้ตรวจประเมินคุณภาพแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ และการอบรมการตรวจวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวเบื้องต้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพสูงที่ผ่านการรับรองให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ส่งผลต่อข้าวไทยทุกเมล็ดให้มีคุณภาพสูงขึ้น เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โครงการหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2559” ณ จ.พัทลุง โดยกรมการข้าวและสวทช.
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 60.21 ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 13.12 ล้านไร่ ทำให้มีความต้องการเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกปีละประมาณ 1.1 ล้านตัน ในอัตราเฉลี่ยที่ใช้เพาะปลูก 15 กิโลกรัมต่อไร่ โดยมีภาครัฐและผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ประมาณ 600,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 55% และชาวนาบางส่วนเก็บเมล็ดพันธุ์ เพื่อใช้ปลูกเองอีกประมาณ 300,000 ตัน หรือคิดเป็น 27% ทำให้ชาวนามีความต้องการซื้อหาเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกประมาณ ปีละ 200,000 ตัน หรือคิดเป็น 18% ของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 กรมการข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อเพิ่มศักยภาพของสมาชิกในหมู่บ้านผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ชมรมและสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และศูนย์ข้าวชุมชนให้สามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการเพิ่มผลผลิตข้าว การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน ในอัตราที่เหมาะสม จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และคุณภาพข้าว ทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น โดยกรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นหลักและชั้นพันธุ์ขยาย และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน ชุมชนเกษตรกร สถาบันเกษตรกรในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานและกระจายสู่เกษตรกรได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง มีการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างถูกต้องเหมาะสม และเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มเติมในพื้นที่ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว และไม่มีศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มอีก 15 แห่ง (ภายในปี 2561) และได้วางแนวทางในการเพิ่มปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน โดยจัดทำโครงการหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งปัจจุบันมีหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้ว 20 แห่ง เกือบทุกภาคของประเทศ
ปี 2558-2559 สวทช. ได้สนับสนุนกรมการข้าว ดำเนินโครงการ “การส่งเสริมระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี” เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชน อบรมผู้ตรวจประเมินคุณภาพแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์อบรมการตรวจวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวเบื้องต้น และจัดตั้งหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง และวันนี้กรมการข้าวร่วมกับ สวทช. และหน่วยงานต่างๆ จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โครงการหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2559 ณ ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแห่งที่ 21 และเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้
ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมข้าว โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีความร่วมมือกับกรมการข้าวและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมในการพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนและ นาชลประทาน ให้มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิต โดยเพิ่มความต้านทานโรคและแมลงที่สำคัญ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิต โดยร่วมกับกรมการข้าว อาทิ การใช้เทคโนโลยีไอทีหรือพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคเกษตร เช่น การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรไทยแบบพกพาหรือ TAMIS เพื่อช่วยในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการตรวจประเมินคุณภาพข้าวไทย สำหรับใช้ติดตามผลการปลูก ประมาณการช่วงเวลาผลผลิตที่พร้อมเก็บเกี่ยว
การบูรณาการข้อมูลและสร้างแบบจำลองการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร จะช่วยสนับสนุนการทำโซนนิ่งภาคการเกษตรให้มี ความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยการบูรณาการข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูก ข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ด้านราคา แหล่งรับซื้อ มีการสร้างโมเดลที่ช่วยในการกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณที่ดินไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวและขาดทุนอยู่ในปัจจุบัน และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ Agri-Map แผนที่บริหารจัดการเชิงรุกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การพัฒนาโปรแกรมตรวจวัดสีใบข้าว แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนสำหรับคำนวณหาปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทสเซียมที่เหมาะกับความต้องการของต้นข้าว โปรแกรมการคำนวณการผสมปุ๋ยเคมีให้ได้ปุ๋ยผสมตามสูตรที่มีธาตุอาหารหลัก N, P, K ที่ต้องการ การพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตร เช่น เครื่องสีข้าวชุมชน การพัฒนาสารชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมโรคและแมลงศัตรู เพื่อการผลิตที่ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเทคโนโลยีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เป็นต้น
สำหรับปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เนื่องจากขาดความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต และ ผู้จำหน่าย รวมถึงความนิยมในการเลือกใช้พันธุ์ข้าวของเกษตรกรที่มีการเปลี่ยนแปลงแทบทุกปี ตลอดจนระบบการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวในแปลง และการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์เบื้องต้น ยังขาดผู้เชี่ยวชาญ จำเป็นต้องสร้างผู้ตรวจแปลงและผู้ตรวจวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอต่อความต้องการ สวทช. เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมการข้าวดำเนินการ 4 กิจกรรม ได้แก่
กิจกรรมที่ 1 การเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 60 แห่ง
กิจกรรมที่ 2 การอบรมผู้ตรวจประเมินคุณภาพแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 130 คน
กิจกรรมที่ 3 การอบรมการตรวจวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวเบื้องต้น จำนวน 70 คน
กิจกรรมที่ 4 การจัดตั้งหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 1 แห่ง
การดำเนินการข้างต้น จะเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงที่ผ่านการรับรองให้เพียงพอกับความต้องการให้ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ เกิดอาชีพเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้าวไทยทุกเมล็ดมีคุณภาพสูงและก่อเกิดธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ยั่งยืนซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร ทั้งนี้การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เกษตรกร ข้าวมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งทำให้ขายได้ในราคาที่ดี สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
สุดท้ายนางจำเนียร เจียมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง กล่าวขอบคุณที่มีการสนับสนุนเครื่องคัดและทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว และเครื่องมือและอุปกรณ์ในการวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกิดการจัดตั้งหมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง
เวลานี้หมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จ.พัทลุง มีเกษตรกร จำนวน 50 ราย พื้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 500 ไร่ โดยมีแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ กข49 ชัยนาท 1 และพันธุ์ปทุมธานี 1 จำนวน 250 ตัน เพื่อกระจายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จ.พัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
ถือเป็นอีกโครงการดี ๆ ที่ต้องสนับสนุนกันต่อไป เพื่อสงวนพันธุ์ข้าวดี ๆ มีคุณภาพคู่กับคนไทย เมืองไทยตลอดไป