พาณิชย์ดึงธุรกิจใหญ่ช็อปOTOP
ปูทางการตลาดบนความยั่งยืน
กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีตามแนวทาง ‘ประชารัฐ’ จับคู่ภาคเอกชน เชิญผู้ประกอบการรายใหญ่กว่า 30 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศมาพบกับผู้ผลิตสินค้า OTOP จำนวนมากกว่า 300 ราย ที่ได้ผ่านการคัดสรรแล้ว ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับมาตรฐานสู่สากลและเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ได้มีโอกาสเจรจาเปิด-ปิดดีลเซ็นสัญญาซื้อ-ขาย เชื่อ…ถ้าเอกชนจะร่วมมือกันส่งเสริมและสืบสานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีช่องทางจัดจำหน่าย เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปได้ไกลยั่งยืน
กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการส่งเสริมสินค้าOTOP ไทยด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับมาตรฐานสู่สากล และสร้างโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขานรับ พร้อมจัดกิจกรรมเชิญภาคเอกชนทั้งผู้ผลิตสินค้า OTOP Select และผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศมากกว่า 30 ราย อาทิ คิงเพาเวอร์,ซีพีออลล์, บุญรอดบริวเวอรี่, เซ็นทรัลฟู้ด รีเทล, เครือ เดอะมอลล์ กรุ๊ป, Shop Channel ทั้งในและต่างประเทศและช็อปปิ้งออนไลน์หรือ e-Marketplace ชื่อดังของไทยเข้าร่วมงาน “เจรจาธุรกิจและเชื่อมโยงการตลาด OTOP Select” ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์
งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เปิดช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนสืบสานภูมิปัญหาท้องถิ่นให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความนิยมและเกิดการยอมรับจากผู้บริโภคตลอดจนนำรายได้เข้าสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ภายในงานมีการเจรจาธุรกิจและเชื่อมโยงการตลาด OTOP Select มีกิจกรรม 2 รูปแบบคือ 1) การจัดShowcase สินค้า OTOP Select ภายใต้แนวคิด “กินดี (อาหารและเครื่องดื่ม) อยู่ดี (ของใช้ ของที่ระลึก) สวยดี (เสื้อผ้า) และดูดี (สมุนไพรที่มิใช่อาหาร)” และ 2) กิจกรรมเจรจาธุรกิจเพื่อต่อยอดทางการตลาดและจับคู่ทางธุรกิจ โดยกรมฯ ได้เชิญผู้ผลิตสินค้า OTOP Select ที่ผ่านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ OTOP เข้าสู่ช่องทางการจำหน่ายที่จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2559 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ได้รับการคัดเลือกจำนวน 376 รายการ
ประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ อาหารและเครื่องดื่ม 145 รายการ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 100 รายการ ของใช้ของตกแต่ง 70 รายการ และสมุนไพรที่มิใช่อาหาร 58 รายการ ตามลำดับ ให้มาพบกับผู้ประกอบการ Buyer เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) และแนะนำการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับช่องทางการตลาด อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่จะไปจัดจำหน่าย เป็นต้น พร้อมเซ็นสัญญาซื้อ-ขายร่วมกับผู้ผลิตเพื่อกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางการตลาดที่กว้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
ขอบคุณภาพจาก-http://www.innnews.co.th/