“คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” ทะลุเป้า
อนุมัติ222 ราย-ปี60ตั้งเป้า 555
ทั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการยกระดับ OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อช่วยผู้ประกอบการพัฒนารูปแบบและคุณภาพของสินค้าในท้องถิ่น เปลี่ยนภาพลักษณ์ของสินค้าท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ซึ่งกระทรวงวิทย์พร้อมพันธมิตรได้ร่วมมือกันผ่าน “คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” เป็นการต่อยอดนวัตกรรม OTOP ของโครงการคูปองนวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไต่ได้หลายขั้น
ผู้ประกอบการที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้รับบริการจากนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยใน 6 เรื่อง คือ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ, พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ,ออกแบบบรรจุภัณฑ์, ออกแบบกระบวนการผลิต, ออกแบบเครื่องจักรและพัฒนาระบบมาตรฐาน
นอกจากนี้กระทรวงวิทย์ยังเพิ่มข้อ7.มาอีก ได้แก่ ช่วยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ สถาบันการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วยบริษัท ไปรษณีย์ไทย ที่ปัจจุบันมีบทบาทช่วยต่อยอดบริการส่งสินค้าให้ เอสซีซี เคมิคอลล์ เครือซีพี ผู้ประกอบการรายใหญ่และห้างค้าปลีกรายใหญ่จะช่วยในด้านการตลาด หาตลาดกระจายสินค้าและผลผลิตต่าง ๆ
ภายหลังการเปิดตัว“คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 กระทรวงวิทย์ฯ โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ได้ลงพื้นที่ ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย นครพนม มุกดาหาร สกลนคร อ่างทอง ปทุมธานี ตรัง สุราษฎร์ธานี ลำปาง ตราด ภูเก็ตและขอนแก่นเพื่อพบปะผู้ประกอบการและประชาชน กระทั่งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรากฎว่า ประชาชนให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 997 ราย
ทั้งนี้มีผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 29 ราย เหลือเป้าหมาย 968ราย โดย 222 รายได้รับคูปองฯ และ 14 รายได้รับคำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ รวม 236 รายจากเป้าหมาย 200 รายในปี 2559 นี้
ส่วน 732 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการกระทรวงวิทย์ฯ อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาโครงการดำเนินงานปี 2560 โดยแบ่งเป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทย์ฯจำนวน 263ราย และที่เหลืออีกจำนวน 469 ราย จะดำเนินการพิจารณาจับคู่กับนักวิทยาศาสตร์ของเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีในพื้นที่ของผู้สมัครต่อไป
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทย์ฯเปิดเผยว่า ในปี 2559 ที่ดำเนินการไปแล้ว 236 ราย ใช้งบประมาณรวม 39.67 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณกระทรวงวิทย์ฯ 27.32 ล้านบาท (68.87%) และผู้ประกอบการสมทบ 12.35 ล้านบาท (31.13%) เป็นผู้ประกอบการกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด จำนวน157 ราย (ร้อยละ 71) รองลงมาคือกลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 28 ราย กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 28 ราย และ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 9 ราย
เป็นการนำ วทน. ไปสนับสนุนการยกระดับวัตถุดิบ 7 ราย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ 44 ราย ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ 40 ราย ออกแบบกระบวนการผลิต 40 ราย ออกแบบเครื่องจักรที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด 11 ราย การพัฒนาระบบมาตรฐาน 3 ราย และดำเนินการพัฒนามากกว่า 1 เรื่อง จำนวน 77 ราย
คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย 5 ล้านบาทต่อรายในการประกอบธุรกิจ OTOP และจะส่งผลให้มีมูลค่าการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากประมาณ 1,175 ล้านบาทต่อปีสำหรับการดำเนินงานในปี 2559
นางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)เปิดเผย “วว.เป็นหน่วยงานหลักในโครงการแต่ได้ทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆอีก 6 หน่วยงาน มีคณะทำงานประชุมร่วมกันเพื่อวางแผนการดำเนินงานและมีการเชิญพันธมิตรไปด้วยทุกครั้ง 6 เดืออนที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ประกอบการสนใจสมัครเข้ามามากเกินเป้าถึง 222 ราย ซึ่งถือว่า เป็นการแมชชิ่งจริง ๆ เพราะนักวิจัยได้มาร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการโดยตรงและเพื่อช่วยแก้ปัญหาได้เลย
ยกตัวอย่าง กรณีข้าวแต๋นที่ผลิตเป็นแผ่นกลม ๆ ใส่ถุง ยังมีเศษแตกหักเหลืออยู่ สามารถนำเศษตรงนี้มาทำสแน็คบาร์ใส่ช็อคโกแลต หรือในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป ทำให้สมัยใหม่มากขึ้น เช่น เงาะแช่อิ่มอบแห้ง ที่ยังรักษาเนื้อสัมผัสอร่อย ไม่มีน้ำหกเปื้อน ขายได้สะดวก หรือ เห็ดอบกรอบ เมนูเพื่อสุขภาพที่ขณะนี้กำลังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่อาจจะทำให้มียอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้”
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากทางซีพี ออลล์ อาทิ ข้าวแต๋นบาร์ลำไยเคลือบช็อคโกแลต ของวิสาหกิจชุมชนข้าวแต๋นอำพัน ,ข้าวไรซ์เบอรี่และธัญพืชอบกรอบผสมกล้วยไข่ บริษัททีพี ฟู้ด จำกัด,ลูกเดือยอบกรอบ กลุ่มวิสาหกิจชุมชมบ้านหัวดง,ผลิตภัณฑ์เงาะอบแห้ง อัยยะ บริษัทนาสารฟู้ดโปรดักส์ จำกัด,เห็ดอบกรอบ ของ LOM&FON Organic farm,ผลิตภัณฑ์ Power Bar สำหรับผู้ออกกำลังกาย บริษัทจูแอม เฮิร์บ แอนด์ เฮ็ลท์ จำกัดและมะพร้าวแก้วเคียงเลย ของกลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์บ้านน้ำน้อย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯเปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2559 ที่เหลืออยู่ว่า กระทรวงวิทย์ มีแผนการผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายประชารัฐโดยจะเชิญเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานได้แก่ ความร่วมมือ ในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการให้บริการผ่านคูปองวิทย์เพื่อ OTOP การสนับสนุนทางการเงินของสถาบันทางการเงินเพื่อการต่อยอดขยายผลการดำเนินธุรกิจ การสนับสนุนด้านการพัฒนามาตรฐาน การสนับสนุนทางการตลาดและ E-Commerce ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 และยังเดินหน้าสร้างความตระหนักผ่านกิจกรรมการเผยแพร่เทคโนโลยีและการเชิดชูตัวอย่างที่ดีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีในงาน SMART SME Expo งาน Industrial Expo งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงาน TISTR and Friends ตามลำดับ
สำหรับแผนการดำเนินการในปี 2560 ดร.พิเชฐ เปิดเผยว่า ท่านนายกฯ ได้กำชับให้กระทรวงวิทย์ฯ ดูแลเรื่องการต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการหลังจากได้รับการบริการจากคูปองวิทย์ฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ทางด้านการสนับสนุนเงินทุนต่อยอด การจัดจำหน่ายสินค้า การส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปขายยังตลาดต่างประเทศ พร้อมเน้นการทำงานประชารัฐเป็นหลัก
จากการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2560 มาจำนวน 198 ล้านบาท จากที่เสนอขอไปกว่า 440 ล้านบาท กระทรวงวิทย์ฯจึงได้ปรับแผนการดำเนินงานปี 2560 ในการนำ วทน. ไปยกระดับผู้ประกอบการ OTOP จากเดิมประมาณ 1,000 รายเป็น 555 ราย โดยแบ่งเป็น
1. กลุ่มผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับบริการคูปองฯ ในปี 2559 รวม 363 รายจาก
· การให้บริการผู้ประกอบการที่สมัครในปี 2559 ดำเนินงานโดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 263 ราย
· การให้บริการผู้ประกอบการที่สมัครในปี 2559 ดำเนินการโดยหน่วยงานเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี จำนวน 100 ราย จากจำนวน 469 ราย
2. กลุ่มผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับบริการคูปองฯ ในปี 2560 จำนวน 192 ราย โดยจะเป็นการพัฒนากลุ่ม Start up จำนวน 215 ราย กลุ่ม Existing ที่ต้องการยกระดับดาว 260 ราย และ กลุ่มGrowth ส่งออกจำนวน 80 ราย
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้คณะทำงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งเน้นพิจารณาถึงคุณภาพในการดำเนินงานจากผู้ประกอบการที่มีความพร้อมการในการใช้เทคโนโลยี และความพร้อมของเทคโนโลยีของกระทรวงวิทย์ฯ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านอาหาร เทคโนโลยีสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เทคโนโลยีด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เทคโนโลยีของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก พร้อมทั้งความเชื่อมโยงกับการดำเนินงานตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล รวมถึงการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมการเผยแพร่เทคโนโลยีและการเชิดชูตัวอย่างที่ดี โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการหมุนวียนทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากประมาณ 2,700 ล้านบาทต่อปี
ถือว่า เป็นอีกโครงการดี ๆ จากภาครัฐ ที่มุ่งสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการOTOP ของไทยให้ก้าวหน้า มีรายได้เพิ่ม สร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจครัวเรือน ชุมชนและประเทศชาติได้ต่อไป