ฉลอง100ปีสถานีหัวลำโพงผ่าน
นิทรรศการแสตมป์นิทรรศน์100ปี
สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่า “สถานีรถไฟหัวลำโพง” เป็นสถานีรถไฟหลักและเก่าแก่ที่สุดของไทย มีความสำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และการคมนาคมขนส่งเป็นอย่างมากโดยเริ่มเปิดใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ปัจจุบันใช้ขนส่งมวลชนเพียงอย่างเดียวและเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปี บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัด “นิทรรศการแสตมป์นิทรรศน์ 100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ สนุก ฉุกฉัก ฉุกฉัก หัวลำโพง” ขึ้น
นิทรรศการดังกล่าวจะเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของสถานีรถไฟหัวลำโพงตลอด 100 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างไปรษณีย์ไทยและรถไฟ
พร้อมเนรมิตบรรยากาศสถานีรถไฟกรุงเทพในวันวาน ผ่านการจำลองขบวนรถไฟ ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อน การจัดนิทรรศการและกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะ ให้ความรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ให้น้องๆ ได้เรียนรู้ความเป็นมาของสถานีและรถไฟไทย และไปรษณีย์ไทย ภายใต้หัวข้อต่างๆที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่
· โซนหัวลำโพงมีชีวิต ร่วมย้อนอดีตไปตั้งแต่สมัย “ก่อนรถไฟมา” สมัยที่ยังไม่มีรถไฟนั้นคนสมัยก่อนเดินทางกันอย่างไร แล้ว “กำเนิดหัวลำโพง” ขึ้นมาได้อย่างไรเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อใดเหตุใดจึงได้ชื่อว่าหัวลำโพง เป็นเพราะบริเวณนี้เคยเป็นท้องทุ่งที่มีวัวมาก หรือเพราะมีต้นลำโพงเยอะสามารถหาคำตอบได้จาก“วัวคึกคัก รถไฟฉึกฉัก” และในส่วนของสถาปัตยกรรมที่สวยงามเช่นนี้ ฝีมือจิตรกรท่านใด ได้แรงบันดาลใจจากอะไร และทำด้วยอะไร จึงคงความงดงามมาจนถึงปัจจุบันบอกเล่าผ่าน“สถาปัตยกรรมล้ำสมัย ไฉไลมากว่า 100 ปี”
· โซนเกร็ดน่ารู้คู่รถไฟ ร่วมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับรถไฟและสถานีรถไฟหัวลำโพงทั้งการเรียกตู้รถไฟหรือโบกี้ต่างกันอย่างไรใน “รู้ยัง ตู้รถไฟไม่ใช่โบกี้” เพราะเชื่อมั่นว่าหลายคนเข้าใจผิดว่าโบกี้คือตู้รถไฟเช่นเดียวกับ “ชานชาลาหรือชานชรา?” ที่หมายถึงบริเวณที่พักรอขึ้น-ลงรถไฟ แล้วรู้หรือไม่ว่า “100 ปีมีกี่คน” กล่าวคือ 100 ปี มีผู้ใช้บริการสถานีหัวลำโพงกี่คน หากวันหนึ่งมี 60,000 คน ตลอดจนการร่วมรำลึกเหตุการณ์ในอดีตว่า ณ สถานีหัวลำโพงเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ อะไรขึ้นบ้าง อาทิ “หลุมหลบภัยใต้หัวลำโพง” ที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 “หัวรถจักรผี?” เมื่อรถไฟไม่มีคนขับจึงเกิดเหตุพุ่งเข้าชนสถานีหัวลำโพงจนมีผู้เสียชีวิต และ “แจวเรือหน้าหัวลำโพง”เมื่อปี 2485 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่น้ำท่วมกรุงเทพฯประชาชนจึงนำเรือออกมาเป็นพาหนะในการสัญจรไปมา
· โซนชีวิตคน+รถไฟ = สถานีรถไฟหัวลำโพง ร่วมสัมผัสความทรงจำที่หลากหลายระหว่างชีวิตคนและรถไฟผ่านการเปรียบสถานีรถไฟเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีอายุครบ 100 ปี เพื่อสะท้อนวิวัฒนาการความเคลื่อนไหวของสังคม เทคโนโลยี และการคมนาคมสื่อสารตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันรวมถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนและรถไฟที่นอกจากรถไฟจะทำการขนส่งแล้วยังทำหน้าที่เป็นเครื่องบันทึกความทรงจำให้บางคนที่จะนั่งรถไฟเพื่อไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ หรือคนที่โดยสารรถไฟเพื่อไปกลับไปหาครอบครัวที่รออยู่คนละจังหวัด และบางคนที่โดยสารรถไฟเพื่อไปหางานทำในเมืองหลวง
· โซนไปรษณีย์ขี่รถไฟร่วมสัมผัสวิวัฒนาการด้านการขนส่งไปรษณีย์ตั้งแต่ยังไม่มีรถไฟที่ต้องขนส่งกันทางเรือ ทางการเดินเท้า หรือใช้ช้าง ม้า วัว เป็นยานพาหนะ ซึ่งจะประสบกับความยากลำบากส่งได้จำนวนจำกัด และใช้เวลานาน แต่เมื่อมีรถไฟก็ช่วยอำนวยความสะดวกไปรษณีย์ให้สามารถส่งได้รวดเร็วและจำนวนมากขึ้น แต่ส่งได้เพียงระยะทางสั้นๆ ตามเส้นทางรถไฟในสมัยนั้นๆ จนกระทั่งปัจจุบันเทคโนโลยีระบบการขนส่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นไปรษณีย์จึงพัฒนามาใช้รถยนต์และเครื่องบินในการขนส่งแทนรถไฟ เพื่อความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากการจัดแสดงข้อมูลดังกล่าว ผู้เข้าชมงานยังได้ร่วมกิจกรรมแรลลี่ย้อนอดีตสวมบทบุรุษไปรษณีย์ยุคต้น ให้น้องๆ ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ความยุ่งยากในการส่งไปรษณีย์ สมัยที่ยังไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีนามสกุล แล้วบุรุษไปรษณีย์ส่งไปรษณีย์อย่างไร ขณะเดียวกันผู้ส่งต้องเขียนจ่าหน้าเพื่ออธิบายลักษณะบุคคลและลักษณะบ้านอย่างไร เพื่อให้บุรุษส่งได้ถูกต้อง อาทิ “นางมา บุตร นายไป ทำสวนหมาก ย่านตลาดพลู นางมามีลูกมาก ลูกนางตาย เหลือ 10 คน” รวมถึงกิจกรรมเวิร์คช้อปต่อโมเดลรถไฟ โดยการให้น้องๆ ได้เรียนรู้ส่วนประกอบของรถไฟ และประกอบโมเดลรถไฟด้วยตัวเอง เพื่อเสริมสร้างการจดจำ ทดสอบความสามารถในการคิด และฝึกความอดทนที่จะประกอบให้สำเร็จอีกด้วย ตลอดจนเรื่องราวของรถไฟและสถานีรถไฟอื่นๆ ในไทยและต่างประเทศตั้งแต่รถจักรไอน้ำ ไปจนถึงรถไฟหัวกระสุน หรือรถไฟความเร็วสูง
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2559 ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน ด้านหลังไปรษณีย์สามเสนในติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานควาย ในวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30 – 16.00 น. (ปิดจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สอบถามเพิ่มเติม โทร 0 2271 2439, 0 2831 3722, 0 2831 3810 หรือเฟซบุ๊คThai Stamp Museumหรือ THP Contact Center 1545 เว็บไซต์www.thailandpost.co.th