กระทรวงวิทย์จับมือ ‘หัวเว่ย’
ดันดิจิตอล-สมาร์ทซิตี้ในไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ลงนามความร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอซีทีของจีน เพื่อร่วมมือทำวิจัย พัฒนา และสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสมาร์ทซิตี้ให้แจ้งเกิดระยะเวลาร่วมมือ 3 ปี นอกจากนี้ยังวางรากฐานด้านการศึกษาและพัฒนาระบบสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในเมืองไทย เป็นส่วนหนึ่งของ 1 ใน 10 ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้านดิจิตอล
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ซึ่งประกอบด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะเจ้าสัวจากประเทศไทยเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน เพื่อชักชวนนักธุรกิจของจีนมาลงทุนในประเทศไทย ในโอกาสนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอซีทีของจีน เพื่อร่วมมือทำวิจัย พัฒนา และสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสมาร์ทซิตี้ รวมถึงวางรากฐานด้านการศึกษาและพัฒนาระบบสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในเมืองไทย
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เป็นการดำเนินตามแผนงานของ1 ใน 10 ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล โดยจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้านดิจิตอล ซึ่งไทยมีความพร้อมในหลายมิติ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับตลาดในประเทศและตลาดโลก โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมแบบเปิด หรือ โอเพ่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ ที่จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านไอซีทีในประเทศไทย อาทิ สมาร์ทซิตี้หรือเมืองอัจฉริยะ อินเตอร์เน็ตออฟธิง ซึ่งเป็นแนวคิดในการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์อัจฉริยะให้คุยกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านคน รวมถึงเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น
“ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทยจะร่วมวิจัยและพัฒนากับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์ สร้างโมเดลธุรกิจ สร้างนวัตกรรมด้านเครื่องมือและบริการ และพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นตัวตนของไทยในเวทีโลก
นอกจากนี้ยังร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากร และความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมเกี่ยวกับเกษตรกรรม การบริการสุขภาพและการท่องเที่ยวในอีก 3 ปีจากนี้ไป ตามข้อริเริ่มด้านเศรษฐกิจฐานดิจิตอลและสมาร์ทซิตี้ของไทย ที่จะเป็นฐานการสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและคลัสเตอร์ที่รัฐบาลได้วางแนวทางไว้” ดร.พิเชฐ กล่าว