คาดนักลงทุนต่างชาติได้โอกาส
เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์อังกฤษ
ผลการลงมติของประชาชนอังกฤษให้ประเทศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรืออียู ได้สร้างความไม่แน่นอนและความผันผวนอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ สะท้อนให้เห็นได้จากค่าเงินปอนด์ที่ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 31 ปีเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เหล่าผู้เชี่ยวชาญคาดว่า อาจมีนักลงทุนชาติบางส่วนที่จะอาศัยประโยชน์จากความผันผวนที่เกิดขึ้นนี้ในการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษชี้การถอนตัวออกจากอียูแม้ช่วยอังกฤษประหยัดงบประมาณลงได้ แต่เสียโอกาสจากการชะลอตัวลงการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายคริส ไอร์แลนด์ ซีอีโอของเจแอลแอลที่อังกฤษกล่าวว่า “แม้การลงประชามติจะยังไม่มีผลในทันทีต่อการดำเนินธุรกิจของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการค้าและกฎหมายจนกว่าจะถึงปี 2561 แต่ได้ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นแล้วทั้งต่อเศรษฐกิจโดยรวมและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ อย่างไรก็ดี หากกระบวนการถอนตัวออกจากอียูมีการบริหารจัดการที่ดี เชื่อว่าผลกระทบจะจำกัดตัวอยู่กับเฉพาะอังกฤษเป็นส่วนใหญ่”
ผู้เชี่ยวชาญอิสระหลายรายประเมินว่า ในระยะ 5 ปีหลังการถอนตัวออกจากอียู อังกฤษจะได้รับความสูญเสียทางการค้าและรายได้อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 3-10 ทั้งนี้ แม้การถอนตัวออกจากอียูจะทำให้อังกฤษสามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายลงได้ แต่คาดว่าจะไม่ช่วยอะไร เนื่องจากอังกฤษจะสูญเสียโอกาสจากการชะลอตัวลงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และขณะนี้ ยังเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าแนวโน้มระยะยาวสำหรับเศรษฐกิจของอังกฤษหลังปี 2020
นายอดัม แชลลิส หัวหน้าฝ่ายวิจัยธุรกิจที่อยู่อาศัยของเจแอลแอลที่อังกฤษกล่าวว่า “จากการที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างหนัก ได้เปิดโอกาสระยะสั้นให้นักลงทุนต่างชาติสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนต่างของค่าเงินในการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษได้ในราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยในกรุงลอนดอน ซึ่งปกติเป็นตลาดที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจสูง”
อย่างไรก็ดี นักลงทุนระยะสั้นที่คิดจะเข้าซื้อที่พักอาศัยในลอนดอนในช่วงนี้ จะต้องรับความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยนายแชลลิสกล่าวว่า “เนื่องจากลอนดอนเป็นศูนย์กลางหลักของอังกฤษในการทำธุรกิจ-การค้ากับกลุ่มประเทศในอียู ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลอนดอนจึงมีความซับซ้อนมากกว่า และจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้มากยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับตลาดที่พักอาศัยในลอนดอน”
นายแชลลิสกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในขณะที่ความกังวลส่วนใหญ่เกี่ยวกับผลการลงประชามติจะเน้นไปที่ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างอังกฤษกับอียู ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในอังกฤษเองกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับการลงทุนในตลาดที่พักอาศัยในลอนดอน”
“ความกังวลสำคัญในขณะนี้อยู่ที่การเผชิญหน้ากันของฝ่ายการเมือง ซึ่งหากมีการต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อ จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกให้ทั้งกับเศรษฐกิจของอังกฤษและโอกาสการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัว”
สำหรับผลกระทบโดยรวมต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มดังนี้
· ในระยะสั้น เชื่อว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัยและศูนย์การค้า จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้เช่ามีแนวโน้มไม่ต้องการขยายการใช้พื้นที่หรือเช่าพื้นที่เพิ่ม เนื่องจากการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเสียบรรยากาศทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะส่งกระทบต่อค่าเช่าไม่มาก เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของอังกฤษมีปริมาณอุปทานหรือซัพพลายจำกัด
· บรรยากาศการลงทุนคาดว่าจะถดถอยลงไปอีก หลังจากที่ปรากฏแนวโน้มมาตั้งแต่ช่วงก่อนรู้ผลการลงประชามติ ดังนั้น การลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จะยังคงอยู่ในภาวะซบเซาต่อไปอีกในระยะสั้นถึงปานกลาง
· มูลค่าอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวลงในช่วงสองปีข้างหน้า (คาดว่าจะลดลงได้ถึง 10%) ทั้งนี้ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ในลอนดอนมีแนวโน้มผันผวนมากที่สุด เนื่องจากก่อนรู้ผลการลงประชามติ ผู้ขายมีการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อเร่งการขายอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติหรือชาวต่างชาติ ซึ่งมีข้อกังวลถึงความไม่แน่นอนว่าจะลดจำนวนลงหรือไม่หลังอังกฤษถอนตัวออกจากอียู
· แม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ตลาดการซื้อขายที่พักอาศัยมีแนวโน้มชะลอตัว แต่เชื่อว่าราคาที่พักอาศัยในอังกฤษโดยทั่วไปจะปรับตัวลงไม่มาก ยกเว้นลอนดอนซึ่งตลาดที่พักอาศัยมีราคาสูงและมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่าดังที่อธิบายในหัวข้อก่อนหน้า
· มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษคาดว่าจะปรับลงแรงในระยะแรกเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะปรับตัวกลับขึ้นมาได้ หลังจากตลาดหลักๆ ของอังกฤษเริ่มฟื้นตัว และมีนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษเพิ่มขึ้นจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนตัว
ภาพประกอบจาก-www.birminghampost.co.uk และ jobs.uandp.co.uk