คาด “วิกฤตอียู” ไม่กระทบ
ตลาดอสังหาฯเอเชียแปซิฟิก
ในภาวะที่ตลาดเงินมีความผันผวนสูงหลังจากอังกฤษมีประชามติให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป มีความเป็นไปได้ว่า การลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์โดยภาพรวมทั่วโลกอาจมีความคึกคักน้อยลง โดยนักลงทุนจากยุโรปมีแนวโน้มไม่ลงทุนเพิ่ม ซึ่งรวมถึงการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างภูมิภาค จนกว่าตลาดเงินจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารที่มีความเกี่ยวพันสูงกับยุโรปจะไม่ต้องการเสี่ยงปล่อยกู้ในระยะนี้ อย่างไรก็ดีเจแอลแอลมองว่า จะไม่ส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ย่านเอเชียแปซิฟิกนัก เช่น ในออสเตรเลีย
ดร. เมแกน วอลเตอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหน่วยธุรกิจบริการด้านลงทุนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์) วิเคราะห์สถานการณ์ความผันผวนในกลุ่มยูโร เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งพึ่งพาความต้องการและการลงทุนภายในประเทศและภายในภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ และน่าจะมีผลดีในบางมิติ
นักลงทุนสนใจลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์เอเชียแปซิฟิกมากขึ้น
ออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแต่น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าจากความผันผวนที่เกิดขึ้นในยุโรป ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอังกฤษและออสเตรเลียต่างได้รับความสนใจจากสูงจากนักลงทุนต่างชาติ จากการที่มีความเสี่ยงด้านการลงทุนต่ำ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความโปร่งใสสูงและอสังหาริมทรัพย์มีสภาพคล่องสูงที่สุดในโลก ดังนั้น ในระหว่างนี้ ออสเตรเลียน่าจะดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่า
นอกจากนี้ นักลงทุนจากเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งมีบทบาทสูงในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ที่มีการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของยุโรปรวมถึงอังกฤษในช่วงก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนจากเหล่านี้ต่างได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าลงของทั้งเงินปอนด์อังกฤษและเงินยูโร ซึ่งส่งผลให้มูลค่าและรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อไว้ปรับลดลงเมื่อแลกเปลี่ยนกลับมาในสกุลของประเทศต้นทางของตน
ด้วยเหตุนี้ ตราบเท่าที่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง นักลงทุนส่วนใหญ่ของเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนในภูมิภาคของตนเองมากขึ้น แม้จะมีบางส่วนที่อาจยินดีรับความเสี่ยงด้วยการอาศัยจังหวะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัว หาโอกาสการเข้าลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษ
แนวโน้มที่นักลงทุนเอเชียแปซิฟิกหันมาลงทุนในภูมิภาคของตนเองมากขึ้น สะท้อนให้เห็นตั้งแต่ช่วงก่อนรู้ผลการลงประชามติให้อังกฤษถอนตัวจากอียู โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอนซึ่งปกติเป็นตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูงสุดในโลก ได้ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการจัดให้มีการลงประชามติ แต่ในช่วงเดียวกัน พบว่า นักลงทุนจีนมีการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะในฮ่องกง
นักลงทุนเอเชียแปซิฟิกมีขีดความสามารถในการลงทุนสูงขึ้น
นักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีทุนหนาอยู่แล้วคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ขณะนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่มีค่าเงินแข็งขึ้นมากดังเช่นญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้มีนักลงทุนมีกำลังในการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางของญี่ปุ่นใช้นโยบายดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ ซึ่งจะกระตุ้นให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
การอ่อนแรงลงของนักลงทุนจากอียู ยังจะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนของเอเชียแปซิฟิกด้วย เนื่องจากเป็นการลดคู่แข่งในการชิงโอกาสการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจลง
การเจรจาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ ในเอเชียแปซิฟิกโดยกองทุนที่มีนักลงทุนจากยุโรปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายการที่มีขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ อาจถูกหยุดไว้ หรือยกเลิกไป แต่คาดว่าในไม่ช้าจะมีนักลงทุนเอเชียแปซิฟิกเข้าเจราจาซื้อแทน