“ซิป้า” ย้ำจุดยืนร่วมพันธมิตร
สร้างสรรค์อุตฯซอฟต์แวร์ไทย
ซิป้า จัดงาน ” SIPA: Fostering Thailand’s Digital Economy ซิป้าหนุนไทย ก้าวไกลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” ประกาศจุดย้ำภารกิจพัฒนาศักยภาพอุตฯซอฟต์แวร์ไทย พร้อมจับมือพันธมิตรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ชูโรดแมปผลักดันโครงการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 2560 – 2563 ปรับปรุงใหม่ หนุนทั้งด้านบุคลากร ผู้ประกอบการ ด้านตลาด ผ่านโครงการ Tech Startup และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานไทยให้ทันสมัยใต้โครงการ Smart City ชี้ไทยเดินถูกทางสร้างเศรษฐกิจฐานดิจิตัล
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(ซิป้า) ในสังกัดกระทรวง กล่าวระหว่างการจัดงาน ” SIPA: Fostering Thailand’s Digital Economy ซิป้าหนุนไทย ก้าวไกลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” ย้ำพันธกิจของซิป้าอยู่คู่กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยและจะเดินหน้าสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะเดินตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ พ.ศ.2560 – 2563 ที่มีการปรับปรุงใหม่ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็วในลักษณะของการดำเนินงาน และการปฏิบัติงานเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์
โดยการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งองค์กรของรัฐ และเอกชน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ และพัฒนาตลาด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไปพร้อมกันให้มีความทันสมัย ภายใต้โครง การ Smart City ที่ให้บรรยากาศเอื้อต่อการลงทุน และนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆป้อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้เติบโตสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
“วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เพื่อยืนยันกับเหล่าพันธมิตรให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ในขณะที่รัฐบาลมีการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซิป้ายังคงมีสถานะเหมือนเดิม ที่ทำหน้าที่ผลักดันผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย สนับสนุนให้ชาวไทยสามารถปรับตัวนำซอฟต์แวร์มาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป”
นางจีราวรรณกล่าวต่อว่า ภารกิจของซิป้าการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยหลัก ๆ จะทำงานร่วมกับสมาคมซอฟต์แวร์ หรือเกมส์ ประสานงานกัน ซึ่งมีอยู่มากกว่า 20 สมาคมและแต่ละสมาคมมีสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการรวบรวมความเห็นและความต้องการของสมาชิกมาจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานให้บริษัทขนาดเล็ก
นอกจากนี้ซิป้ายังมีบทบาทพัฒนาคนหรือบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ โดยในช่วง 1-2 ปีมานี้เน้นส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ไทย โดยส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ให้ใช้ไอที ด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และส่งเสริมให้ใช้ซอฟต์แวร์ในการเปิดตลาด เช่น ซอฟต์แวร์บัญชี สต็อกสินค้า แนะนำบริษัทเล็ก ๆ เชื่อมโยง SMEs
นอกเหนือจากนี้ซิป้ายังมีโครงการ Tech Start-up โดยในการดำเนินงานซิป้าได้สำรวจมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 40 แห่งที่สอนด้านไอทีว่ามีการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ อย่างไรบ้างและได้พบว่า ทุกมหาวิทยาลัยมีชมรมไอที จึงรวบรวมจัดตั้งเป็น Tech Start-up Club ขึ้น เพื่อประกวดแนวคิดสร้างสรรค์ สุดท้ายได้ไอเดียเด่น ๆ มาสนับสนุนต่อจนเติบโตกลายเป็น Start-up
สำหรับโครงการเด่นอีกอย่างของซิป้า ได้แก่ โครงการ Smart City ซึ่งกระทรวงมอบนโยบายมาให้จัดทำขึ้นและได้เลือกภูเก็ตเป็นที่แรก โดยดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น ส่งเสริมติดตั้งไวไฟในเมือง สนับสนุนนักท่องเที่ยวและคนทำงาน โดยเพิ่งลงนาม 3 ฝ่ายได้แก่ ซิป้า กรมการจัดหางานและBOI ส่งเสริมการลงทุน จัดตั้ง Innovation Park ที่ให้บริการขอใบอนุญาตทำงานหรือ Work Permit ใช้เวลาเพียง 1 วันจากหลายวันหรือหลายเดือน
ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบริการท่องเที่ยว มีริสต์แบนด์สำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อความปลอดภัย มีเรื่องของสุขภาพส่วนบุคคลที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน
“Smart City พยายามจะเปิดเฟสแรกให้ได้ภายในวันที่ 30 สิงหาคมนี้และในวันที่ 1 พฤศจิกายน ป่าตองจะเปิดหาดรับฤดูกาลท่องเที่ยว แนวคิดนี้ยังจะทำที่จังหวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ทำในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางบริการนักลงทุน
นางจีราวรรณกล่าวในตอนท้ายว่า “เห็นด้วยที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล วันนี้เราเดินมาถูกทางแล้ว เอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ เชื่อว่า ใน 3 ปีคงจะเห็นผล เช่น ความครอบคลุมในด้านโครงข่าย การบริการภาครัฐ SMEs ใช้ไอทีได้มากขึ้น เราปรับตัวได้ตรงเวลา ช้าไม่ได้”