ปส.ให้ความรู้ความปลอดภัย
ขนส่ง “วัสดุนิวเคลียร์-รังสี”
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดเวิร์คชอปสร้างองค์ความรู้ความปลอดภัยในการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี หวังให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ มีศักยภาพด้านความมั่นคงปลอดภัยในการขนส่งวัสดุนิวเคลียร์ – รังสี ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงการพลังงาน ของสหรัฐอเมริกามาให้องค์ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติงาน
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาความมั่นคงปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะความมั่งคงปลอดภัยในระหว่างการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ วัสดุนิวเคลียร์พิเศษ และกากกัมมันตรังสี
สำหรับประเทศไทยได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในระหว่างการสัมมนาเรื่อง Safety and Security during Transport of Radioactive Material ซึ่ง ปส. ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดร่วมกับทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA เมื่อวันที่ ๒๒ – ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ประกอบกับพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ปส. ได้มีนโยบายเชิงรุกเร่งสร้างองค์ความรู้ในเรื่องความมั่งคงปลอดภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรื่องการขนส่งวัสดุนิวเคลียร์ – รังสี ให้มีความเข้มงวดขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ ๑๕ – ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ ปส. จึงจะจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Security of Radioactive Material during Transport ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ สำหรับเจ้าหน้าที่ ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ในฐานะหน่วยงานที่มีการใช้ประโยชน์และมีการขนส่งวัสดุที่เกี่ยวข้องดังกล่าว จำนวนกว่า ๕๐ คน
ดร.อัจฉรา กล่าวอีกว่า การจัดฝึกอบรมครั้งนี้ ปส. ได้รับการสนับสนุนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงการพลังงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางมาสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมาย ระเบียบ มาตรฐาน แนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ วัสดุนิวเคลียร์พิเศษ และกากกัมมันตรังสี รวมทั้งการฝึกปฏิบัติ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ทั้งนี้ ในวันแรกของการฝึกอบรมฯ จะมีการประชุมหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องระหว่างผู้บริหารของ ปส. และผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังกล่าวอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานศึกษาวิจัยและรักษาความปลอดภัย สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ ๑๕๒๑