ก.วิทย์/สนช.ผนึกคสช.เปิดศูนย์
“สร้างสรรค์นวัตกรรมเกษตร”
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สนช. ร่วมกับคสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิด “ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ Agro Business Creative Center หรือ ABC Center” ตั้งเป้าพลิกโฉมภาคเกษตรไทยจาก “เกษตรแบบดั้งเดิม” ไปสู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” และก้าวสู่ “เกษตรบริการ หรือธุรกิจเกษตร” ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเป็นหลัก พร้อมโชว์ความสำเร็จของโครงการนวัตกรรมภายใต้ “โครงการการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดอย่างยั่งยืน” ระหว่างคสช.และABC Center อาทิ สารกระตุ้นข้าวหอมเพิ่มขึ้นและเครื่องตรวจกลิ่นข้าวหอมไทย
พลอากาศเอก ดร. ประจิน จั่นตอง หัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฝ่ายเศรษฐกิจ (คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ) และรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เกษตรกรรม ถือเป็นรากฐานของความแข็งแกร่งของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของประเทศที่มักมีทิศทางที่สอดคล้องกับค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคการเกษตร ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายการพัฒนา “เกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ” ที่ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ ด้วยการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้เป็นเครื่องมือในการรังสรรค์ “นวัตกรรมด้านการเกษตร” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอัจฉริยะและแม่นยำ อิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร และเกษตรกรรมในเมือง
พลอากาศเอก ดร. ประจินกล่าวต่อว่า การดำเนินงานของ ABC Center ใน 1 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ชักนำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมด้านกระบวนการจัดการ หรือนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในภาคการเกษตร
เช่นเดียวกับในส่วนของ คสช. ที่เห็นความสำคัญของการการพัฒนาคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงกำหนดแผน “การพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดอย่างยั่งยืน” โดยได้รับความร่วมมือจาก สนช. ในการประสานงานและเชื่อมโยงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ หน่วยงานวิชาการ และภาคเอกชน จนเกิดเป็นโครงการนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพข้าวมะลิไทยที่สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย คสช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์ฯ นี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตรของประเทศ ที่จะส่งผลให้ประเทศเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “จากบทบาทและภารกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เพื่อต่อยอดความได้เปรียบใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น การดำเนินงานของ ABC Center นี้จะสามารถตอบโจทย์การส่งเสริมและสนับสนุน “กลุ่มธุรกิจเกษตร” ให้สามารถพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ดร.พิเชฐ กล่าวเสริมว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นส่วนหนึ่งในกลไกลของรัฐบาลที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานเกิดสัมฤทธิ์ผลได้ ซึ่งวันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหลายกลไกลที่ดำเนินการแล้วและมีหลายกลไกลที่ระหว่างการดำเนินการอยู่คือการผนึกกำลัง 15 หน่วยงานในการทำ 5 เรื่องใหญ่ของประเทศ ได้แก่ 1.การนำระบบงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์ 2.การพัฒนาสินค้าโอทอป 3.การทดสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้า/บริการทดสอบ 4..การพัฒนากำลังคน 5.การพัฒนาทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำและดาวเทียม เป็นต้น
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สนช. กล่าวว่า “การพัฒนานวัตกรรมบนรากฐานของความแข็งแกร่งของประเทศ โดยเฉพาะ “นวัตกรรมธุรกิจการเกษตร” จะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมการเกษตร ตลอดจนจัดตั้ง “ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ ABC Center” เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกลางด้านนวัตกรรมที่จะช่วยเชื่อมโยง แสวงหา และสร้างสรรค์โครงการนวัตกรรมในห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างตลาดใหม่หรือการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถมีศักยภาพในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานเกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพตามนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ โดยเน้นใน 4 ด้าน ได้แก่ เกษตรดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และเกษตรกรรมยั่งยืน”
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า” การดำเนินการที่ผ่านมา 1 ปี ได้ประสานงานและผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการนวัตกรรมด้านนวัตกรรมการเกษตร จำนวนทั้งสิ้น 45 โครงการ โดยให้การสนับสนุนเงินทุนผ่านกลไกของ สนช. เป็นวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 105 ล้านบาท เกิดมูลค่าการลงทุน 1,696 ล้านบาท
นอกจากนี้ สนช. โดย ABC Center ยังได้ดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงการระบบการปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงแบบครบวงจร โครงการนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์กระตุ้นความหอมในข้าวหอมมะลิ และโครงการ e-Aroma: เครื่องมือตรวจวัดกลิ่นข้าวหอมไทย ตามแนวทางโครงการการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดอย่างยั่งยืน ของ คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรไทยจาก “เกษตรแบบดั้งเดิม”ไปสู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” และก้าวไปสู่ “เกษตรบริการ หรือธุรกิจเกษตร” ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย สนช. มุ่งหวังว่าการดำเนินงานของ ABC Center ในระยะต่อไป จะชักนำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ที่จะเป็นส่วนร่วมสำคัญในการปรับรูปแบบธุรกิจเกษตรให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้าง”
รองศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า โครงการนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์กระตุ้นความหอมในข้าวหอมมะลิเกิดขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาเหล่านักวิชาการพบปัญหาหลายอย่างแต่ไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากไม่มีทุน ปัญหาที่เกิดขึ้นได้แก่ ความหอมของข้าวหอมมะลิน้อยลง การปลอมปนข้าว และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ต้นข้าวเครียด เช่น ภาวะดินเค็มและภาวะโลกร้อน ทำให้มีผลผลิตลดลงแม้จะมีกลิ่นหอมเพิ่ม นอกจากนี้เทคโนโลยีการผลิตวิธีต่าง ๆ ของเกษตรกรที่ส่งผลกระทบได้
รองศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาโดยการคัดกรองข้าวปลอมปน เพื่อให้มีการติดตราสัญลักษณ์พนมมือ ซึ่งจะต้องมีสัดส่วนข้าวหอมมะลิมากกว่า 92%
สำหรับการพัฒนาในโครงการเป็นสารกระตุ้น บังคับให้ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมมมากขึ้นโดยตรง โดยไม่ต้องไปพึ่งพาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ในช่วงระยะเวลาการเติบโตต่าง ๆ ของต้นข้าวที่แบ่งเป็น 9 ระยะ
สารดังกล่าวนี้พัฒนาจากกรดอะมิโนที่ช่วยกระตุ้นกลิ่นหอมร่วมกับจุลินทรีย์อีกอย่างน้อย 2 ชนิด ซึ่งในเวลานี้พัฒนาออกมาแล้ว 3 สูตร ในปี 2558 ที่ผ่านมาได้ทำการทดลองในแปลงของเกษตรและเกษตรกรมีส่วนร่วมแล้วเป็นพื้นที่ 2,000 ไร่ ครอบคลุมจังหวัดร้อยเอ็ด นครราชสีมาและพะเยา
ส่วนการทดลองในขั้นต่อไป ในปีนี้สนับสนุน “หนองบัวลำภู โมเดล” ซึ่งได้เริ่มทำการทดลองแล้ว เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
สำหรับโครงการ e-Aroma: เครื่องมือตรวจวัดกลิ่นข้าวหอมไทย เป็นการพัฒนาร่วมกันของนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลและบริษัทโมบิลิส ออโตมาต้า จำกัด โดยต่อยอดจากผลงานเครื่องวัดกลิ่นอาหารและรสชาติอาหาร ซึ่งสิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ได้แก่ เซนเซอร์วัดสารที่ให้ความหอมของข้าวหอมมะลิ (2AP) ช่วยให้ไทยมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้มาตรฐานในราคาที่ถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีราคาไม่เกิน 300,000 บาท จากเครื่องนำเข้าราคาสูงถึง 5,000,000 บาท