สกว.ร่วมพัฒนาโลจิสติกส์รพ.
ทำแบบประเมินปัญหาสู่แก้ไข
สกว.หนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาลชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้-ต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง โดยประเมินความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์สุขภาพของประเทศ และวิเคราะห์ปัญหาโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชน 20 แห่งทั่วไทย พัฒนาแบบประเมินสุขภาพของระบบโลจิสติกส์ระดับโรงพยาบาลชุมชน ทำให้รู้ปัญหา นำสู่การแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทดลองในโรงพยาบาลชุมชนนำร่องหลายแห่ง พบช่วยลดการสำรองคงคลังและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลในหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโซ่อุปทานสุขภาพ (ศูนย์ LogHealth) มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) จัดงานประชุมวิชาการเรื่อง“การจัดการระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและยกระดับการให้บริการ” ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี เพื่อแถลงผลการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ในโรงพยาบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลและการต่อยอดสู่การปฏิบัติจริงอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและยกระดับการให้บริการภายในโรงพยาบาล โดยได้รับความสนใจจากบุคลากรทางการแพทย์เข้าฟังกว่า 150 ท่าน จากโรงพยาบาลกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนยังประสบปัญหาระบบบริการสุขภาพการเชื่อมโยงข้อมูล การบริหารจัดการสินค้าคงคลังยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ จากการศึกษาของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์ของฐานข้อมูลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชน พบว่าโรงพยาบาลยังใช้โครงสร้าง 12 แฟ้มมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้บริหารและส่วนกลางไม่สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลเป็นภาพรวมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เนื่องจากข้อมูลไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งข้อมูลยังมีความซ้ำซ้อน สร้างภาระในการจัดเก็บข้อมูลในระดับปฏิบัติการ
จากเหตุดังกล่าว คณะวิจัยโครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาลชุมชน” ซึ่งมี รศ.ดร.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เห็นว่า สามารถนำหลักการการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการวางแผน ดำเนินการ และควบคุมการไหลของวัสดุและข้อมูลสารสนเทศในระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อให้การจัดการระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาลชุมชนมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศด้วย
คณะวิจัยได้ศึกษาปัญหาและแนวทางปรับปรุงโลจิสติกส์ของระบบบริการสุขภาพในระดับโรงพยาบาลชุมชน และพัฒนาแบบประเมินสุขภาพของระบบโลจิสติกส์ระดับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งพัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อประยุกต์ใช้การจัดการโลจิสติกส์ในระดับโรงพยาบาลชุมชน ทั้งในมิติการจัดการกระบวนการและมิติการจัดการระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างแนวทางการปรับปรุงโลจิสติกส์ของระบบบริการสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม
ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาของโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชนแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1) ระดับมหภาค เป็นปัญหาในภาพรวมระดับประเทศในเชิงนโยบายด้านโลจิสติกส์ของระบบบริการสุขภาพ และ 2) ระดับปฏิบัติการ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ของแต่ละโรงพยาบาลชุมชน โดยคณะวิจัยได้ประเมินความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์สุขภาพของประเทศ และวิเคราะห์ปัญหาโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชนที่คัดเลือกจาก 4 ภูมิภาค จำนวน 20 แห่ง เพื่อนำผลมาพัฒนาแบบประเมินสุขภาพของระบบโลจิสติกส์ระดับโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นการประเมินอย่างเป็นระบบ และมีวัตถุประสงค์ในการประเมินชัดเจน มีความน่าเชื่อถือ ทำให้ทราบปัญหาและวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา รวมถึงสามารถกำหนดเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาลชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการประเมินมีระดับความพร้อม 7 ด้าน ใน 2 มิติ คือ มิติการจัดการกระบวนการ และมิติการจัดการสารสนเทศ ได้แก่ 1. ด้านหน่วยงานและบุคลากร (Organization and staffing) 2. ด้านระบบสารสนเทศการจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management information system) 3. ด้านการพยากรณ์ (Forecasting) 4. ด้านกระบวนการจัดหา จัดซื้อวัสดุภัณฑ์ (Obtaining supplies and procurement) 5. ด้านกระบวนการควบคุมสินค้าคงคลัง (Inventory control processes) 6. ด้านการคลังสินค้าและการเก็บรักษา (Warehousing and storage) 7. ด้านการขนส่งและการกระจายสินค้า (Transportation and distribution)
การประเมินดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถประเมินศักยภาพ ปรับปรุงคุณภาพและการให้บริการในมิติโลจิสติกส์ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนหาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ การจัดการวัสดุ คงคลัง การจัดการระบบสารสนเทศ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและการจัดการระบบการขนส่งในโรงพยาบาลไปสู่การปฏิบัติที่ดีที่สุดได้ โดยโรงพยาบาลชุมชนนำร่อง อาทิ โรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลสวี จ.ชุมพร โรงพยาบาลห้วยยอด จ.ตรัง โรงพยาบาลศรีสงคราม จ.นครพนม โรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน จ.ชุมพร โรงพยาบาลบางกรวย จ.นนทบุรี โรงพยาบาลควนขนุน จ.พัทลุง โรงพยาบาลพญาเม็งราย จ.เชียงราย โรงพยาบาลสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้ยืนยันว่าการจัดทำแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ของโรงพยาบาลช่วยทำให้ลดการสำรองคงคลัง และสามารถพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลในหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รศ. ดร.ดวงพรรณ ระบุว่า ผลวิจัยข้างต้นนี้บางส่วนสามารถต่อยอดไปสู่ “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐานและระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและแนวทางการริเริ่ม Big Data ด้านสาธารณสุขสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยแผนงานวิจัยตอบสนองนโยบาย/เป้าหมายรัฐบาล ปีงบประมาณ 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาวิเคราะห์และออกแบบระบบบริหารจัดการคลังสินค้าและเวชภัณฑ์ในสถานบริการเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยได้
ทั้งนี้จะมีพิธีลงนามความร่วมมือในการดำเนินโครงการร่วมกัน 4 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2559 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์