สกว.ร่วมมข.ปั้นนักวิจัยป้อนอุตฯ
โชว์4ผลงานเด่นเพื่อสุขภาพ
สกว.-พวอ. หารือผู้บริหารม.ขอนแก่น หวังร่วมทุนปั้นนักวิจัยป.โท-เอก ป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยสกว.สนับสนุน 25% มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยของรัฐ 25% และภาคอุตสาหกรรม 50% เป็นทุนไม่เกิน 2 ปี 2 รูปแบบ คือ ทุนนักวิจัยวุฒิปริญญาโท ทุนละ 1.06 ล้านบาท และวุฒิปริญญาเอก ทุนละ 1.8 ล้านบาท พร้อมเปิดตัว 4 ผลงานเด่นด้านสุขภาพ ทั้งเครื่องดื่มเม็ดมะม่วงหิมพานต์ลดความเสี่ยงหลอดเลือดสมอง ผลิตภัณฑ์จากผลหม่อนสำหรับสตรีวัยทอง แชมพูลดผมร่วงจากองุ่น และน้ำพลูคาวที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ศ. ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รศ. ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือการสนับสนุนทุนระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการ พวอ. ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมแถลงผลงานโครงการวิจัยที่ได้ทุน พวอ. ระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัย
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ พวอ. ได้ประชาสัมพันธ์ “ทุนนักวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม” หรือ Industrial-academic Research Fellowship program (IRF) ซึ่งเป็นทุนสนับสนุนนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาใหม่ สามารถใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้ระบบการทำงานของภาคอุตสาหกรรม และประยุกต์งานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาจากภาคอุตสาหกรรม โดยมีอาจารย์หรือนักวิจัยอาวุโสจากภาครัฐเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และประเด็นปัญหาจากการดำเนินงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้เกิดประโยชน์ทั้งกับวงการวิชาการ เนื่องจากเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับการพัฒนากระบวนการผลิต/ผลิตภัณฑ์ใหม่ และวงการอุตสาหกรรม เพราะสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการผลิตจริง และค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนากระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็วและดีขึ้น
รูปแบบของทุนนักวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (IRF) จะเป็นการร่วมสนับสนุนทุน 3 ฝ่าย ได้แก่ สกว. (ร้อยละ 25) มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยของรัฐ (ร้อยละ 25) และภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 50) ในด้านเงินสนับสนุนและองค์ความรู้ต่อยอด โดยรับทุนไม่เกิน 2 ปี ใน 2 รูปแบบ คือ ทุนนักวิจัยวุฒิปริญญาโท ทุนละ 1.06 ล้านบาท และวุฒิปริญญาเอก ทุนละ 1.8 ล้านบาท
มะม่วงหิมพานต์
ส่วนผลงานเด่นของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้รับทุน พวอ. ประกอบด้วย “การพัฒนาเครื่องดื่มสุขภาพที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและเส้นใยสูงเพื่อช่วยการหมุนเวียนของเลือดและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจากมะม่วงหิมพานต์” โดย รศ. ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร คณะแพทยศาสตร์ น.ส.ปรารถนา ศรีชมพู และบริษัท เดอะแคชชูวี่ ภูเก็ต (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกันเพิ่มมูลค่ามะม่วงหิมพานต์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด โดยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เนื่องจากส่วนต่าง ๆ ของมะม่วงหิมพานต์ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรกันอย่างแพร่หลายในแถบอเมริกาใต้ อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรคในตลาดสินค้าดังกล่าว คือ มีกฎระเบียบที่เข้มงวดและขาดข้อมูลการวิจัยที่น่าเชื่อถือ โดยนักวิจัยได้นำส่วนของใบ ผล และเมล็ด มาเตรียมเป็นสารสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกส่วนที่มีศักยภาพแต่ละด้านสูงไปศึกษา ซึ่งจะตรวจวัดสารสำคัญ ได้แก่ ฟีนอลิก อัลคาลอยด์ แทนนิน ฟลาโวนอยด์ ตลอดจนฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบ ก่อนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม
ผลงานวิจัยนี้จะช่วยให้ประชากรภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิตทั้งของรัฐและเอกชน สามารถนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตไปใช้การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์เกษตรในรูปผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของตลาดอาหารสุขภาพซึ่งมีมูลค่าสูงถึงปีละ 592 ล้านบาท และรัฐบาลยังได้รับผลประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับ 1 และ 3 ตามลำดับทั้งในเพศชายและเพศหญิง รวมถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะก่อนวัยอันควรและสูญเสียเศรษฐกิจจากค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นมูลค่ามหาศาล
ทั้งนี้ประสิทธิภาพการรักษาโรคเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดและนับเป็นปัญหาสำคัญ ส่งผลให้การป้องกันและการลดความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ประกอบกับการใช้อาหารและสมุนไพรในการรักษาและป้องกันโรคกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะอาหารสุขภาพและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพพร้อมใช้โดยตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องค่อนข้างสูง รายงานจากยูโรมอนิเตอร์ระบุว่าตลาดรวมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 10 ทุกปี ในประเทศไทยตลาดที่มีแนวโน้ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการหมุนเวียนของโลหิต กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับวัยทอง และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อร่างกาย
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากผลหม่อน
ขณะที่ผลงาน “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพต้นแบบสำหรับสตรีวัยทองจากผลหม่อน” โดย รศ. ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร น.ส.สุพรรณิการ์ ขาววิเศษ และบริษัท ไทย โปรดักส์ อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งได้ทำการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดผลหม่อนที่ผ่านกระบวนการแอนแคปซูเลชันในสัตว์ทดลองเป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษากลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในแบบจำลองภาวะวัยทองร่วมกับกลุ่มอาการอ้วนลงพุง และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออภิปรายและสรุปผลต่อไป เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพต้นแบบที่เหมาะสม
ปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุโดยเฉพาะประชากรเพศหญิงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างต่าง ๆ ของร่างกาย จนเกิดกลุ่มอาการผิดปกติที่เรียกว่า วัยหมดประจำเดือน การรักษาภาวะผิดปกติเหล่านี้มักจะใช้การให้ฮอร์โมนทดแทน แต่เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง ทำให้การใช้ไฟโตอีสโตรเจนจากพืชซึ่งมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงได้รับความสนใจที่จะนำมาใช้ทดแทนฮอร์โมนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันตลาดของอาหารเสริมของวัยทองมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามชนิดของอาหารเสริมสุขภาพสำหรับวัยทองที่วางในตลาดยังมีน้อยมาก ทำให้มีโอกาสที่สินค้าใหม่ ๆ จะเข้าไปแข่งขันในตลาดดังกล่าว
แฮร์โทนิคจากองุ่น
ด้าน รศ. ดร.วัชรี คุณกิตติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น น.ส. ชลธิรา กาวี“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดอาการผมร่วงจากเปลือกและเมล็ดองุ่น” ได้คิดค้นสูตรแชมพูแฮร์โทนิคใหม่ที่ลดอาการผมร่วงที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากองุ่น มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อราบนหนังศีรษะ เพื่อทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงและปัญหาการดื้อยาจากการใช้ยาต้านจุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรคบนหนังศีรษะ
ผลงานวิจัยนี้มีจุดเด่น คือ กระตุ้นการงอกของรากผมและการเจริญเติบโตของเส้นผม ตลอดจนฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของรังแค ผมร่วงและคันศีรษะขณะนี้งานวิจัยอยู่ระหว่างการขอรับสิทธิบัตร
ทั้งนี้อาการผมร่วงที่มีสาเหตุจากเชื้อราสามารถรักษาได้โดยการทายา แต่ถ้ายังไม่เห็นผลอาจเริ่มให้ยารับประทาน ซึ่งพบว่าในเพศชายมีผลข้างเคียงสำคัญคือ ความรู้สึกทางเพศลดลง ขณะที่มีหลักฐานยืนยันว่ายารับประทานไม่ได้ผลในเพศหญิง อีกทั้งมีผลต่อสตรีมีครรภ์เนื่องจากอาจทำให้ทารกเพศชายมีอวัยวะเพศผิดปกติได้
นอกจากนี้ยังเปิดห้องปฏิบัติการวิจัยของ รศ. ดร. ธนเศรษฐ์ เสนาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของน้ำหมักสมุนไพรพลูคาว แห่งคณะวิทยาศาสตร์ และนายศุภวิชญ์ อุทัยวัฒน์ ซึ่งได้วิเคราะห์องค์ประกอบของสารประกอบฟีนอลิคในสารสกัดเครื่องดื่มน้ำหมักสมุนไพรพลูคาวด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (HPLC) ผลการศึกษากระบวนการกลืนกินสิ่งแปลกปลอมของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลด้วยสารสกัดทั้งสองแบบ พบว่าสารสกัดส่วนใสและสารสกัดด้วยเอทานอลมีส่วนช่วยให้เกิดกระบวนการกลืนกินยีสต์เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มน้ำหมักสมุนไพรพลูคาวมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและมีฤทธิ์กระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.cashewthai.com และ region1.prd.go.th