ม.พะเยารุกผลิต “เภสัชสมุนไพร”
ร่วมมช.วิจัยตานคอม้าสู้เชื้อดื้อยา
ม.พะเยา รุกผลิตเภสัชกรสมุนไพร โดยคณะเภสัชศาสตร์ร่วมจัดทำหลักสูตรเภสัชกรรมสมุนไพรกับสภาเภสัชกรรม คาดเปิดรับนักศึกษาได้ปี2562 สอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศที่มีพื้นฐานเกษตรกรรมเข้มแข็ง ระหว่างรอร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำหลักสูตรการอบรมเภสัชกรด้านสมุนไพรตอบรับกับการทำงานของเภสัชกรในโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อีกทัั้งจับมือ มช.วิจัย “สมุนไพรตานคอม้า” แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ สาเหตุคร่าชีวิตคนไทย 38,000 รายต่อปี
ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยเป้าหมายหนึ่งของการขับเคลื่อน คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ ที่มีพื้นฐานเกษตรกรรมเข้มแข็ง อีกทั้งยังตอบโจทย์สุขภาพของประเทศ ในเรื่องของสุขภาพ ทั้งในแง่ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยใช้ยาแผนปัจจุบันเป็นมูลค่า 170,265.73 ล้านบาท ดังนั้นการขับเคลื่อนให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบันและการใช้ยาจากสมุนไพรที่เหมาะสม เภสัชกรนับว่ามีบทบาทที่สำคัญ
ศ.พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรเภสัชกรรมสมุนไพรว่า มหาวิทยาลัยพะเยา โดยคณะเภสัชศาสตร์ กำลังจัดทำหลักสูตรเภสัชกรรมสมุนไพร ร่วมกับสภาเภสัชกรรม โดยจะเปิดรับนักศึกษาได้ในปี2562 ในระหว่างนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำหลักสูตรการอบรมเภสัชกรด้านสมุนไพร ให้มีความหลากหลายตอบรับกับการทำงานของเภสัชกรในโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ 4 เดือน 1 ปี และ 3 ปี
นอกจากนั้นแล้วมหาวิทยาลัยยังมีความร่วมมือกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการศึกษาวิจัยยาปฏิชีวนะจากสมุนไพร “ตานคอม้า” เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาที่เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิต38,000 รายต่อปี ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวเป็นสมุนไพรที่สามารถปลูกได้ในประเทศ คาดว่าหากการวิจัยนี้สำเร็จ จะมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจและสุขภาพ โดยเฉพาะเศรษฐกิจนั้นจะสามารถสร้างงานได้ตั้งแต่รากหญ้าเลยทีเดียว
สำหรับสมุนไพร “ตานคอม้า” เป็นสมุนไพรยากำลังตัวหนึ่ง มีชื่อเรียกอย่างอื่นว่า ฮางแดง ยาแก้รากแดง หญ้าคอตุง มะแฮะนก ขี้กะตือ ขี้กะตือแป หมอนกิ่ว ข้าวเม่านก คอกิ่ว หนอนหน่าย นอจูบี้ กวางหินแจ๊ะ ชื่อไม้ต้นนี้ “ตานคอม้า” มาจากลักษณะก้านใบที่เหมือนคอม้า นอกจากเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลังแล้ว ตานคอม้ายังมีสรรพคุณทำให้เกิดเรี่ยวแรงแข็งขันสามารถขึ้นเขาลงห้วย ปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นยาบำรุงที่ใช้ตัวเดียวหรือเข้ากับตัวยาตัวอื่นก็ได้ สรรพคุณที่เด่นมากคือ ทำให้เลือดสะอาดและแข็งแรง อ่อนเปลี้ยเพียงใดเจอตานคอม้าเข้า เรี่ยวแรงจะฟื้นคืนกลับมา เนื่องจากการไม่มีแรงมักเกิดเพราะเลือดลมเดินไม่สะดวก แต่ตานคอม้าช่วยแก้ปัญหานี้โดยตรงคือ ทำให้เลือดลมเดินได้สะดวก
ตานคอม้าเป็นตัวยาสำคัญในสูตรยาสามม้าของพ่อหมอไทยใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย ม้าแม่ก่ำ ตานคอม้า ม้าสามต๋อน ในสามม้านี้ตานคอม้ามีการใช้ประโยชน์ทางยาหลากหลายกว่าอีกสองชนิด คือ สามารถใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ยาถ่ายพยาธิ ยารักษาแผล ยาแก้ไข้ แก้ซาง แก้ปวดเมื่อย บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้ปวดหลังปวดเอว รักษาปอดไม่ดี วัณโรค รักษาไซนัสอักเสบ รักษาอาการเจอพิษจากยาฆ่าแมลง เป็นต้น
(ข้อมูลตานคอม้าจาก-www.rakkhaoyai.com/)