“สธ.” ประชุมหน่วยงานทั่วไทย
รองรับนโยบายต้านยาเสพติด
สธ.ประชุมวีดีโอทางไกลกับหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรองรับนโยบายรัฐบาลด้านยาเสพติด ยกผู้เสพเป็นผู้ป่วย เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เน้นดูแลมาตรฐาน การคัดกรองและบำบัดรักษาฟื้นฟู ทั้งในระบบสมัครใจบำบัด บังคับบำบัดและต้องโทษ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน จัดตั้งศูนย์คัดกรองผู้ป่วยยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โดยเข้าไปช่วยภาคีเครือข่ายทำงานต่อเนื่อง ย้ำเข้มมาตรการป้องกัน ยาเสพติดต่อเนื่อง อาทิ โครงการ “To Be Number One”
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กลาโหม ยุติธรรม ฯ สำนักงานตรวจแห่งชาติ กทม. ประชุมทางไกล ผ่านระบบวิดีโอ กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ชี้แจงนโยบายการพัฒนาระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด รองรับนโยบายรัฐบาล ที่ให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพื่อให้พร้อมดำเนินการในวันที่1 พฤศจิกายน 2559 และให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้ชี้แจงให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมทั้งด้านโครงสร้าง บุคลากร งบประมาณในการรองรับนโยบาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นการดำเนินการด้านการคัดกรองและด้านมาตรฐานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ ทั้งในระบบสมัครใจบำบัด บังคับบำบัดและต้องโทษ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยจะเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่ทำงาน ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติดทุกสังกัด
ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานทุกแห่ง ดำเนินการดังนี้ 1. เข้มข้นงานป้องกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ To Be Number One ศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น 2.จัดตั้งศูนย์คัดกรองผู้ป่วยยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ และในสังกัดกรมสุขภาพจิต การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ การถอนพิษยา ปรับสภาพร่างกายจิตใจให้เกิดความเข้มแข็งไม่คิดกลับไปใช้ยาเสพติดอีกให้ผู้เสพผู้ติดเข้าถึงบริการ ทั้งทางกาย และทางจิตใจอย่างครอบคลุม มีคุณภาพ
3.มีระบบการติดตามดูแลผู้ผ่านการบำบัด ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เพื่อให้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะวัยรุ่น มีความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดที่ถูกต้อง สามารถป้องกันตัวเองจากสารเสพติดได้ รวมทั้งระบบข้อมูลการบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ของประเทศ(บสต.)ใหม่ ประมวลข้อมูลโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)
“เราต้องคัดแยกผู้เสพ ออกจากจากผู้ผลิต ผู้ค้า เพื่อนำไปดูแลในฐานะผู้ป่วยอย่างเหมาะสม หากเป็นการเสพในงานปาร์ตี้ อาจจะให้การดูแลได้ที่รพ.สต. หากมีอาการเสพติดมีอาการทางสมองต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะ เน้นย้ำให้ดูแลในฐานะผู้ป่วย ให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดประสบผลสำเร็จเช่นประเทศอื่นๆ”