สนช.มอบ 7 รางวัลนวัตกรรม
กระตุ้นผู้ประกอบการดันไทย4.0
5 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ได้จัดประกวดผลงานชิง “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” มาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2547 เพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับผู้คิดค้นพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เช่นเดียวกันในปี 2559 นี้ สนช.ได้ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จัดประกวดและมอบรางวัลมากถึง 7 ประเภทโดยแต่ละผลงานล้วนน่าสนใจ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “การแข่งขันในโลกปัจจุบัน ทำให้การสร้าง “นวัตกรรม” เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์กลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่การปฏิรูปประเทศ โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมรับมือกับการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เนื่องจากในขณะนี้ เรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” แต่ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่เป็น “ทำน้อย ได้มาก”
ซึ่งประเทศไทย 4.0 จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศใน 3 มิติ ได้แก่ 1) เปลี่ยนจากประเทศผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่การผลิตสินค้า “นวัตกรรม” 2) เปลี่ยนจากประเทศที่ขับเคลื่อนด้วย “ภาคอุตสาหกรรม” ไปสู่การขับเคลื่อนด้วย “ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ 3) เปลี่ยนจากประเทศที่เน้น “ภาคการผลิต” ไปสู่การเน้น “ภาคบริการ” มากขึ้น
โดยมีเป้าหมายที่จะมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ใน 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1) เปลี่ยนจาก “การเกษตรแบบดั้งเดิม” ในปัจจุบันไปสู่ “การเกษตรสมัยใหม่” ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรแบบเป็นผู้ประกอบการ 2) เปลี่ยนจาก “เอสเอ็มอีดั้งเดิม” ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น “เอสเอ็มอีที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่า ผ่านโมเดลธุรกิจในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม 3) เปลี่ยนจาก “บริการดั้งเดิม” ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำไปสู่ “บริการที่มีมูลค่าสูง” และ 4) เปลี่ยนจาก “แรงงานทักษะต่ำ” ไปสู่ “แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 เห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เสนอให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม โดยการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “แกล้งดิน” ในเขตจังหวัดนราธิวาส และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับ “โครงการแกล้งดิน”
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมชนะเลิศในแต่ละประเภทมีดังนี้
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ
– ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ไข่ออกแบบได้ บริษัท คลีน กรีนเทค จำกัด
– ด้านสังคม ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม การพัฒนาโพรไบโอติกแลกโตแบซิลลัสพาราเคชิอิเอสดีหนึ่งเพื่อใช้ป้องกันฟันผุ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม
– สาขา Food Design ได้แก่ แป้งเบเกอรี่สำเร็จรูปปราศจากกลูเต็น บริษัท บูรพา พรอสเพอร์ จำกัด
– สาขา Green Design ได้แก่ “บีช” กระเบื้องผงแก้วรีไซเคิล บริษัท อิมแม็กช์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
– สาขา Medical Product Design ได้แก่ แผ่นรองใต้ก้นพร้อมถุงวัดปริมาตรเลือดภายหลังการคลอดปกติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
– สาขา Service Design ได้แก่ บริการรับตู้รับฝากสิ่งของควบคุมระยะไกล บจก.อินโนซิเนติ
รางวัล Inspirational Innovator นวัตกรที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้สร้างนวัตกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก
– องค์กร ได้แก่ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” (Teach for Thailand) สร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาไทย
– บุคคล ได้แก่ นายวิเชียร พงศธร ผู้ยึดหลักคิดและปฎิบัติสู่สังคมไทยที่มีความสุขอย่างยั่งยืนร่วมกัน
– บุคคล ได้แก่ ดร.มีชัย วีระไวทยะ บิดาแห่งธุรกิจเพื่อสังคม
รางวัล Startup of the year
– รางวัล Startup of the year ได้แก่ JITTA
– รางวัล Startup Leader of the year ได้แก่ นายไผท ผดุงถิ่น และ ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม
– รางวัล Startup Enabler of the year ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
– รางวัล Professional Investor of the year ได้แก่ Invent
รางวัล Total Innovation Management
– รางวัลสุดยอดองค์กรนวัตกรรม ได้แก่ “CHO” บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)
– รางวัลองค์กรนวัตกรรมแห่งปีกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ “UREKA” บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน)
– รางวัลองค์กรนวัตกรรมแห่งปีกลุ่มบริการ ได้แก่ “JUBILE” บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระดับอุตสาหกรรม และระดับวิสาหกิจชุมชน ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 80,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 40,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชย เงินรางวัล 10,000 บาท 2 รางวัล โดยรางวัลชนะเลิศ
– ระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ โครงการ “ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้” ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ร่วมกับบริษัท โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จำกัด
– ระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ โครงการ “ไรซ์เบอร์รี่ช็อกโกครันช์” อาหารเช้าจากข้าวไทย ของวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าทอง ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย
– สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญาตรี หรือ ปวส. ไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ
– สาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. ได้แก่ ผลงาน O-Bese-Gone Application ลดน้ำหนักลงโรคด้วยนาฬิกา และแอพพลิเคชันดูแลสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
– สาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับมัธยมปลาย หรือ ปวช. ได้แก่ ผลงาน ห่วงน้ำ จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี