นศ.ปนป.สถาบันพระปกเกล้า
ทำกิจกรรมช่วยผู้พิการสายตา
นักศึกษา ปนป. สถาบันพระปกเกล้า น้อมนำแนวทางพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ ๙ ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกลุ่มจิตอาสา Good Intentions ดึงวิทยากรชั้นนำจากต่างประเทศ สอนเทคนิคการใช้เสียงสะท้อนเพื่อช่วยเหลือคนตาบอด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการรับรู้สภาพแวดล้อม คาดจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการทางสายตาจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันในไทยมีอยู่มากกว่า 500,000 คนหรือมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของผู้พิการทั้งหมด
ผ.ศ. น.พ. ม.ล. ทยา กิติยากร ประธานโครงการศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน : เสียงสว่างนำทาง : เพื่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตาและผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า นักศึกษามีความตั้งใจที่น้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ดังพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๓ องค์ที่ว่า “…การสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำเพื่อผู้อื่นและส่วนรวม นอกจากตนเองด้วย ยิ่งทำได้กว้างขวางได้เท่าใดก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น เพราะประโยชน์ที่ถูกต้องแท้จริงในโลก มีสองประการคู่กันเสมอ คือ ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม คนที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว จัดว่าเป็นคนไม่สามารถแท้ ซึ่งใครๆ ก็ตามจะไม่สรรเสริญ ขอให้พยายามร่วมกันทำตัวทำงานให้ดังที่กล่าว ผลดีที่ทุกคนมุ่งประสงค์ จะเกิดแก่ชาติบ้านเมืองของเราได้มากมายเกินกว่าที่คาดคิด…”
ทั้งนี้ คณะนักศึกษา ปนป. ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกลุ่มจิตอาสา Good Intentions ได้จัดโครงการสร้างศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อนหรือเสียงสว่างนำทาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการรับรู้สภาพแวดล้อมด้วยการใช้เสียงสะท้อน (Echolocation) เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตากว่า 500,000 คน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของจำนวนผู้พิการทั้งหมด
ผ.ศ. น.พ. ม.ล. ทยา กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการจะมีการจัดกิจกรรม การสอนการใช้เสียงสะท้อนที่สร้างขึ้นเองจาการขยับลิ้น เพื่อให้รับรู้สิ่งแวดล้อมได้ เรียกว่า Human Echolocation หรือ Click Sonar เหมือนค้างคาว หรือวาฬและโลมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มาสอนคือ Mr. Juan Ruiz และ Mr. Brian Bushway ทั้งคู่เป็น Senior Coach ขององค์กร World access for the Blind ซึ่งเป็นองค์กร สอนคนตาบอดระดับโลก
ทั้งนี้การดำเนินการสอนถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยผู้เรียนจะเป็นครูต้นแบบเพื่อต่อยอดและขยายผลแก่นักเรียนคนตาบอด โดยมีเป้าหมายในการยกระดับและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตาบอดในการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างอิสระตลอดชีวิต
ผ.ศ. น.พ. ม.ล.ทยา กล่าวด้วยว่า คณะผู้ดำเนินการมีความหวังว่าโครงการนี้จะสร้างครูไทยที่สามารถถ่ายทอดทักษะต่อให้แก่ครูคนอื่นหรือนักเรียนที่ตาบอดได้อย่างยั่งยืน และสามารถเพิ่มระดับความเชี่ยวชาญจนครูไทยที่เรียนทักษะนี้สามารถถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่นได้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาตลอดโครงการประมาณ ๓-๔ ปี
ด้านนายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯให้ความช่วยเหลือคนพิการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยมิได้หวังผลตอบแทน
ทั้งนี้การตัดสินใจมาทำหน้าที่ในฐานะประธานกรรมมูลนิธิฯ เนื่องจากได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ องค์ที่ว่า “…การสังคมสงเคราะห์นั้น มีความหมายกว้างขวางมาก กินความถึงการดำเนินการทุกอย่างที่จะช่วยเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ หรือกลุ่มชนที่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นชาติ และผู้ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ให้มีความสุข ทั้งทางกายและจิตใจ ให้ได้มีปัจจัยอันจำเป็นแก่การครองชีพ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ได้รับการศึกษาอบรมตามควร ตลอดจนมีความรู้ที่จะนำมาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพื่อความเรียบร้อย และความเป็นปึกแผ่นของสังคม…”
“จากพระราชดำรัสดังกล่าวคนตาบอด จึงถือเป็นกลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญปัญหาในชีวิต และเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกอยู่ในสภาพของผู้ด้อยโอกาสในหลายๆ ด้าน หลายครั้งต้องเป็นภาระพึ่งพิงผู้อื่น ซึ่งหนึ่งในปัญหานั้นคือการทราบสภาพแวดล้อมของตัวเองและการเดินทางไปที่ต่างๆ หากพวกเราสามารถทำให้คนตาบอดมีศักยภาพในการดูแลตนเองได้มากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรพัฒนายิ่ง” นายขรรค์ กล่าวเพิ่มเติม
ดังนั้นคณะนักศึกษา ปนป. และกลุ่ม GI จึงตระหนักถึงปัญหานี้ ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตา โดยมีจุดประสงค์ให้คนตาบอดได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการรับรู้สภาพแวดล้อมด้วยการใช้เสียงสะท้อน (Echolocation) ซึ่งจะช่วยในการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมในขณะนั้น และช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถทำกิจกรรมได้เหมือนอย่างคนปกติทั่วไปมากขึ้น โดยมูลนิธิฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าก้าวแรกของโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอันดีที่จะเพิ่มแสงสว่างให้ผู้พิการทางสายตาอย่างยั่งยืน
อนึ่งสำหรับโครงการสร้างศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน : เสียงสว่างนำทาง : เพื่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตามีจุดเริ่มต้นจาก คณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) สถาบันพระปกเกล้า ได้เห็นวิดีโอคลิปของเด็กต่างประเทศที่ทำ Echolocation และได้เห็นประโยชน์ของความสามารถนี้ในการดำเนินชีวิตประจำวันสำหรับคนพิการทางสายตา จึงตกลงร่วมมือกันนำความสามารถนี้เข้ามาช่วยผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยเพราะคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้คณะนักศึกษา ปนป. นำโดย ผ.ศ. น.พ. ม.ล. ทยา กิติยากร จึงได้นำเสนอโครงการนี้ ต่อมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระราชินูปถัมภ์ ซึ่งการโครงการได้รับการอนุมัติจากมูลนิธิฯ และมูลนิธิฯได้ยินดีเป็นองค์กรร่วมในการจัดทำโครงการดังกล่าว ต่อมาคณะนักศึกษา (ปนป.) ได้พยายามร่วมกันหาทุนทรัพย์ เพื่อนำครูจาก World Access for the Blind ให้เดินทางมาประเทศไทย แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่คนเข้าใจยากจึงลำบากต่อการหาทุนในเบื้องต้น กระทั่งได้รับความร่วมมือจาก บริษัท จีดีเอชห้าห้าเก้าจำกัด ที่มีจิตอาสา ร่วมกับ บริษัท นางแมวป่า จำกัด และกลุ่มจิตอาสา GI (Good Intention) ทำให้รวบรวมเงินทุนได้จำนวนหนึ่งเพื่อเชิญครูจากต่างประเทศมาได้และเริ่มการอบรมในครั้งนี้
โครงการนี้มุ่งหมายที่จะสร้างครูสอนระบบการเรียนรู้ของศาสตร์การเดินทางสำหรับคนพิการทางสายตาหรือ O&M (orientation and movement) ศาสตร์นี้จะทำให้ผู้พิการทางสายตามีความสามารถพิเศษในการใช้เสียงสะท้อนเพื่อรับรู้ถึงสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวรวมถึงอุปสรรคต่างๆ ในการเดินทาง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้พิการทางสายตามีความคล่องตัว และมั่นใจในการเดินทาง รวมทั้งมีความเป็นอิสระในการดำเนินชีวิตมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ใน ๒ สัปดาห์แรกซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของโครงการฯ วิทยากรและคณะผู้ดำเนินการจะร่วมกันฝึกคนตาบอดชาวไทยรวม ๘ คน เพื่อเป็นครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน โดยหวังว่าครูต้นแบบนี้จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสอนผู้พิการทางสายตารายอื่นๆ และสามารถขยายความรู้เรื่องการใช้เสียงสะท้อนให้เป็นประโยชน์ต่อคนพิการทางสายตาทั่วประเทศได้ในอนาคต ทั้งนี้เพื่อทำให้การสอนในอนาคตมีโอกาสสำเร็จได้ง่ายขึ้น คณะผู้ดำเนินการได้บันทึกเทปการอบรมครั้งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท จีดีเอชห้าห้าเก้า จำกัด เพื่อทำเป็นสารคดีออกอากาศทางโทรทัศน์และเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนที่จะช่วยครูต้นแบบในอนาคต
สำหรับ Echolocation หรือการใช้เสียงสะท้อน คือ การใช้เสียง เพื่อรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่ค้างคาวหรือโลมาใช้เพื่อหาเหยื่อ นั่นคือการส่งเสียงจากปากออกไปด้านหน้า และฟังเสียงสะท้อนที่กระเด้งกลับมาจากสิ่งต่างๆ ในละแวกนั้น ซึ่งคนที่มีความสามารถจะใช้หูฟังและสามารถแยกเสียงออกได้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตามภาพที่เห็นในสมองของมนุษย์ที่ได้รับจากเสียงสะท้อนนั้นอาจจะไม่ละเอียดเท่าของค้างคาว เพราะมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนาการศาสตร์นี้มาตั้งแต่เกิดเหมือนกับค้างคาว แต่คนที่ฝึกการใช้เสียงสะท้อนจะสามารถเห็นอุปสรรคใหญ่ๆได้บนเส้นทางการเดินทาง แม้จะไม่เห็นรายละเอียด เช่น ความขรุขระของพื้นผิว หรืออะไรที่มีลักษณะแบนก็ตาม แต่ความสามารถนี้จะช่วยในการเดินทางของผู้พิการทางสายตาได้เป็นอย่างดีดังที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ โดยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังพบว่า ผู้มีความสามารถใช้เสียงสะท้อนแบบนี้จะใช้สมองส่วนด้านหลังของศีรษะ ที่ธรรมดาคนเราใช้ในการวิเคราะห์ภาพจากดวงตามาวิเคราะห์เสียงแทน
ความสามารถ Echolocation หรือ การใช้เสียงสะท้อนนี้ เป็นศาสตร์ที่สอนกันได้ โดยมีองค์กร World Access for the Blind จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรที่ส่งครูไปสอนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จนมีการเริ่มสร้างครูต้นแบบการใช้เสียงสะท้อนที่ประเทศโครเอเชีย (Croatia) เป็นประเทศแรกเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนประเทศไทยจะถือเป็นประเทศที่สองในโลกที่มีการอบรมเพื่อสร้างครูต้นแบบให้มีความสามารถดังกล่าว
โครงการฯ มีวิทยากรสองคนจากองค์กร World access for the Blind คือ Mr.Juan Ruiz (คุณฮวน รุอิส) และ Mr.Brian Bushway (คุณไบรแอน บุชเวย์) วิทยากรทั้งคู่มีอาการพิการทางสายตาแบบบอดสนิท และเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจากองค์กร โดยทั้งสองคนเป็นลูกศิษย์คนแรกๆ ของ Mr.Daniel Kish (คุณเดเนียล คิช) ผู้ริเริ่มการสอน Echolocation และก่อตั้งองค์กร
ทั้งนี้ คุณฮวน และ คุณไบรแอน ได้ใช้ Echolocation มานานกว่า ๒๐ ปีจนมีความเชี่ยวชาญ และได้เดินทางไปสอนคนตาบอดเป็นการส่วนตัวมากกว่า๑๐ ประเทศ ซึ่งในประเทศเอเชียมี ๒ ประเทศคือ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอินเดีย
ในปัจจุบัน คุณฮวนซึ่งสามารถขี่จักรยาน mountain bike ได้ทั้งๆ ที่ตาบอดสนิท ยังได้รับเชิญจากรัฐบาลประเทศออสเตรีย (Austria) ให้เป็นครูในโครงการพิเศษวาระสองปี เพื่อสอนเด็กและครูพิการทางสายตาทั่วประเทศ ส่วน คุณไบรแอน ที่เชี่ยวชาญการเล่นกีต้าร์ได้สอนคนตาบอดในสหรัฐอเมริกา และเดินทางไปสอนในประเทศโครเอเชียเมื่อไม่นานมานี้