ไทยพร้อมโชว์นวัตกรรมเด่น
ประชุมนักวิชาการอ้อย-น้ำตาล
คณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ประกาศความพร้อมจัดงาน “ประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29” ซึ่งปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่2 ระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม 2559 นี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ เล็งโชว์นวัตกรรมเด่น วิชาการเลิศสู่การเกษตรยั่งยืน ในฐานะชาติผู้ผลิตอ้อยรายเล็กของโลก แต่ถือเป็นเบอร์ 1 ของภูมิภาค สอดพ้องแนวคิดงาน “Sufficent and Sustainable Agri-Sugar Cane from Small Farmers to Global Exporters”
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติครั้งที่ 29 เปิดเผยว่า สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย(TSSCT) ได้รับคัดเลือกในนามของประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติครั้งที่ 29 หรือ XXIX International Society of Sugar Cane Technologist Congress วันที่ 2-11 ธันวาคม 2559 ที่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมกันจัดแสดงความก้าวหน้าและนวัตกรรมด้านอ้อยและน้ำตาลจากนานาประเทศทั่วโลก ด้วยแนวคิด Sufficient and Sustainable Agri-Sugar from Small Farmers to Global Exporters”
การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ โดยได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย,มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,กรมวิชาการเกษตร,เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ,สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.),สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน),บริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการหรือทีเส็บ
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ดำเนินยุทธศาสตร์โรงงานอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายระยะเวลา 10 ปีคือ ในปี 2569 จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกประมาณ 6 ล้านไร่ ส่งผลให้มีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นประมาณ 59% และผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นประมาณ 24% รวมถึงมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 39% อันจะทำให้ในปีดังกล่าว ไทยมีรายได้เพิ่มจากอุตสาหกรรมอ้อยเพิ่มเป็น 5 แสนล้านบาท
นายเชิดพงษ์กล่าวว่า การที่ไทยได้รับเลือกในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและบทบาทของไทยในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำตาลในตลาดโลก โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลดับ 5 ของโลกและมีการส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่บราซิลเป็นประเทศที่มีการผลิตเป็นอันดับ 1 ทั้งน้ำตาลและอ้อย โดยผลิตน้ำตาลได้ราว 350 ล้านตันต่อปีและผลิตอ้อยได้ราว 700 ล้านตันต่อปี พร้อมส่งเสริมการผลิตเอทานอลจากน้ำตาล กระทั่งเป็นประเทศที่มีรถยนต์ใช้เอทานอล 100% เป็นพลังงาน
“สำหรับไทยผลิตอ้อยได้เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ยังสู้บราซิลไม่ได้แม้ไทยจะเน้นอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญและมีบทบาทเป็นผู้นำอันดับ 1 ในภูมิภาค โดยปัจจุบันไทยมีการปลูกอ้อยแปลงเล็ก สามารถผลิตอ้อยได้เพียง 12 ตันต่อไร่ ซึ่งถือว่า ยังต่ำ ดังนั้นการประชุมนี้จึงเป็นโอกาส อยากให้นักวิจัยไทยให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น มาเอาความรู้เพื่อมาต่อยอดได้ แลกเปลี่ยนความรู้กัน”
ด้านนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมในครั้งนี้กล่าวเสริมว่า ไทยเรามีความพร้อมที่จะแสดงศักยภาพด้านอ้อยและน้ำตาลให้นานาประเทศได้รับรู้ว่า มีการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตให้มีความก้าวหน้า ยั่งยืน
สำหรับนวัตกรรมที่นำมาโชว์ในงานมีหลายอย่าง ซึ่งงานแบ่งเป็นส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการ ที่มีการนำเสนอและแสดงเทคโนโลยี ที่เป็นนวัตกรรมและเครื่องจักร นอกจากมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรทั่วโลกมาแสดงแล้ว เครื่องจักรของไทยก็นำมาโชว์เช่นกัน อาทิ รถตัดอ้อยขนาดกลาง เล็ก มีเครื่องปลูกอ้อย นวัตกรรมการปลูกด้วยตาอ้อย นวัตกรรมช่วยอ้อยทนแล้ง การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาพันธุ์อ้อย หรือการปราบโรคแมลง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กระบวนการผลิตและผลพลอยได้จากอ้อยและน้ำตาล
นอกจากนี้ยังมีส่วนของการประชุมวิชาการเด่น ๆ มีการนำเสนอในรูปแบบเอกสารและปากเปล่าของนักวิชาการประมาณ 40 เรื่อง
สำหรับอีกสิ่งที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้คือ การช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการค้าให้กับจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก โดยมีผู้ตอบรับเข้าร่วมแล้วมากกว่า 1,500 คนจากมากกว่า 60 ประเทศ ซึ่งอาจมีผู้ติดตามที่เป็นคู่สมรสและอื่นๆ เพิ่มมาอีก ส่วนผู้ประกอบการจากทั้งในและต่างประเทศสนใจพื้นที่แสดงนิทรรศการแล้วมากกว่า 70 บริษัท