รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะผู้บริหาร พนักงาน และประชาคมในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมทำบุญตักบาตรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลฯในโอกาสเสด็จสวรรคตครบ 50 วัน หลังจากนั้นจัดกิจกรรม “ทำความดีถวายพ่อหลวง” ชวนจิตอาสาทำอุปกรณ์พ่นยาโรคหืด DIY Spacer 99 ชิ้นเพื่อช่วยผู้ป่วยส่งมอบผ่านชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผู้บริหาร พนักงาน สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ได้มาร่วมกันทำบุญและทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตครบ 50 วัน โดยในช่วงเช้าได้มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 10 รูป
ในช่วงบ่ายได้ร่วมกันทำกิจกรรม “ทำความดีถวายพ่อ” โดยเชิญชวนเพื่อนพนักงาน สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยที่มีจิตอาสามาร่วมกันทำ “อุปกรณ์พ่นยาโรคหืด DIY Spacer” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการคิดค้นของทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคหืดจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ โดยผลงานวิจัยนี้ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน และนำไปใช้ได้จริงในการรักษาผู้ป่วยมาแล้ว
นอกจากนี้สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวยังได้รับการการันตีด้วยรางวัลจากทั้งในและต่างประเทศมากมาย ได้แก่
• รางวัลระดับดีเด่นจากการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2555
• รางวัลเหรียญเงินจากงาน “Seoul International Invention Fair (SIIF)2012” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยสมาคมส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และการวิจัยของเกาหลี
• รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ “สิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์” ประจำปี 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
• รางวัลระดับเหรียญทองเกียรติยศ จากงานนิทรรศการใหญ่ระดับโลก “International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในกลุ่มงานวิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส และยังได้รับรางวัลพิเศษหรือ Special Prize จากประเทศไต้หวัน (Taiwan Invention Association) เมื่อปี 2556
ด้านศ.พญ.อรพรรณ โพชนกูล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โรคหืด เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม และหลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะหดเกร็งตัวแคบลง เยื่อบุภายในหลอดลมบวมขึ้น และสร้างเมือกเหนียว ทำให้ช่องทางเดินอากาศในหลอดลมแคบลง และเกิดอาการหอบหืด คือ หายใจหอบ เหนื่อย หายใจไม่เต็มอิ่ม บางรายต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือนอนโรงพยาบาล และในบางรายอาจเสียชีวิตได้ โดยปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคหอบหืดประมาณ 5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 1,000 คน ซึ่งการเสียชีวิตดังกล่าวนี้ สามารถป้องกันได้ หากมีการใช้ยาที่เหมาะสม และการใช้อุปกรณ์พ่นยา DIY Spacer ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนการเสียชีวิตของผู้ป่วย และช่วยลดการสูญเสียรายได้ของประเทศ
“ที่ผ่านมาเวลาที่เด็กมีอาการโรคหอบหืด ผู้ปกครองจะต้องพาเด็กมาทำการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อพ่นยาด้วยการครอบหน้ากากเหมือนครอบออกซิเจน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ การใช้แผ่นพลาสติกม้วนเป็นรูปกรวย แล้วนำมาครอบที่จมูกและปากของเด็ก จากนั้นก็พ่นยาเข้าที่ปากกรวยด้านที่แคบกว่า แต่ก็มีปัญหาว่าเวลาครอบต้องกดปากกรวยให้แนบกับใบหน้า ทำให้เด็กเจ็บและเกิดรอยแผลที่จมูก และเด็กต้องสูดยาพร้อมสูดหายใจเข้าทางปาก พร้อมกับต้องกลั้นหายใจเป็นเวลา 10 วินาที ซึ่งเด็กเล็กจะยังควบคุมการหายใจได้ไม่ดีนัก จึงทำให้การพ่นยาในเด็กเป็นไปได้ยาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการพ่นยาคือ การใช้ท่อต่อ หรือที่เรียกว่า Spacer มาใช้ร่วมกับยาพ่น เป็นกระบอกที่ครอบเข้ากับใบหน้าของเด็ก แต่เป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพงประมาณ 1,400-1,500 บาท”
จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ด้วยการสร้างผลงาน DIY Spacer ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยพ่นยาแบบมีวาล์วเปิด-ปิดควบคุมทางเดินอากาศสำหรับการรักษาโรคหอบหืดในเด็กและผู้สูงอายุ โดยนำวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายๆ ใกล้ตัวในราคาต้นทุนเพียงแค่ 50-60 บาทเท่านั้น
นายปริญญา จันทร์หุณีย์ วิศวกรอาวุโส เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่บุตรสาววัย 1 ขวบของตนป่วยด้วยอาการโรคหอบหืด ทำให้ต้องติดตามรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง และด้วยแนวคิดการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้นึกถึงผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ที่อาจเข้าไม่ถึงการรักษา เพราะอุปกรณ์พ่นยามีราคาสูง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มคิดค้นการทำอุปกรณ์ DIY Spacer ร่วมกับคุณหมออรพรรณขึ้น ด้วยอุปกรณ์ที่หาง่ายได้ใกล้ตัว ซึ่งในช่วงแรกได้นำมาทดลองใช้รักษาบุตรสาวของตนเองจนมีอาการดีขึ้น ประกอบกับการดูแลและปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่พักอาศัยควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้ปัจจุบันหายจากอาการป่วยแล้ว ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวได้จดอนุสิทธิบัตรร่วมกันระหว่าง สวทช. และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อให้เป็นผลงานที่ทำขึ้นเพื่อสาธารณะประโยชน์เท่านั้น
“สำหรับหัวใจสำคัญของอุปกรณ์ Spacer คือ ต้องมีวาล์วปิดเปิด โดยวาล์วจะเปิดเมื่อเด็กสูดหายใจเอาตัวยาเข้าไป แต่เมื่อเด็กหายใจออกวาล์วจะต้องปิด เพื่อไม่ให้ลมหายใจที่ปล่อยออกมาไปรวมกับตัวยาในกระบอก ซึ่ง Spacer ที่วางขายในท้องตลาดจะมีวาล์วปิดเปิดลักษณะเหมือนไดอะแฟรม เป็นแผ่นบางๆ แต่สำหรับ DIY Spacer ทีมวิจัยเอ็มเทคนำลิ้นวาล์วในอุปกรณ์สูบน้ำด้วยมือ หรือ ไซฟ่อนปั๊ม มาเป็นตัวควบคุมทิศทางการไหลของลมหายใจให้ไปทางเดียว เหมือนเวลาเราบีบไซฟ่อนปั๊มเพื่อสูบน้ำ เวลาเราบีบหัวไซฟ่อนปั๊ม น้ำจะถูกดันไปยังภาชนะหนึ่ง เมื่อปล่อยมือจากหัวไซฟ่อนปั๊มน้ำก็ถูกดูดขึ้นมาไว้ที่หัว พอบีบใหม่น้ำที่ถูกดูดขึ้นมามันจะไม่ไหลกลับไปทางเดิมเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ทำให้น้ำไหลไปทางเดียวกันในแต่ละจังหวะการบีบและคลาย เราจึงนำมาใช้ทำหน้าที่เหมือนวาล์วควบคุมทางเดินอากาศ เวลาสูดหายใจเข้า ตัวยาก็จะไหลเข้าปอด เวลาหายใจออก อากาศจะไหลออกทางช่องเปิดด้านบน ไม่ไหลกลับเข้าไปผสมกับยา”
สำหรับการทำอุปกรณ์นั้น นายปริญญา กล่าวว่า DIY Spacer ทำได้ง่าย โดยตัวกระบอกพ่นยา ใช้ขวดน้ำขนาด 500 มิลลิลิตร มาเจาะรูที่ปลายกระบอกด้วยการตัดเจาะจากของมีคมหรือความร้อน เพื่อเป็นช่องสำหรับใส่อุปกรณ์พ่นยา ส่วนปากขวดน้ำนำมาต่อกับลิ้นปิดเปิดที่ได้มาจากที่สูบน้ำด้วยมือ เพื่อบังคับทิศทางการหายใจ สุดท้ายคือการนำส่วนหัวของขวดน้ำขนาดใหญ่ เช่น ขนาด 2 ลิตร มาตัดให้เข้ากับรูปหน้าของผู้ป่วย แล้วนำสายท่อลมยางซิลิโคนมาหุ้มขอบเพื่อลบความคมของขอบรอยตัด และทำให้นุ่มนวลกับหน้าของผู้ป่วยเมื่อใช้งาน ส่วนปากขวดนำมาต่อกับลิ้นปิดเปิดอีกด้านหนึ่ง เท่านี้ก็จะได้อุปกรณ์พ่นยาโรคหอบหืดที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยใช้เวลาในการทำต่อชิ้นไม่เกิน 10 นาที เท่านั้น
ปัจจุบัน อุปกรณ์ DIY Spacer สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์พ่นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้เปิดรับจิตอาสาในการทำอุปกรณ์เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นจิตอาสา หรือผู้ป่วยที่ต้องการขอรับอุปกรณ์สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ โทร. 02-926-9999