มุมเกษตร..สกว.-โครงการหลวง
พัฒนาสตรอว์เบอร์รีพระราชทาน
สกว.ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุนคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อยอดปรับปรุงสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์พระราชทาน 80 จากคู่ผสม 6 สายพันธุ์ทำให้ได้ลูกผสมที่มีลักษณะดี มีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ส่งกลิ่นหอมเมื่อเริ่มสุก รสชาติหวาน เนื้อผลแน่น ผลสุกมีสีแดงสดถึงแดงจัด รูปร่างของผลสวยงาม มีคุณค่าทางสารอาหารมากมาย หวังสร้างอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรไทย คาดงานวิจัยนี้จะสำเร็จและนำไปปลูกได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรตามรอยพระราชา “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน” เพื่อติดตามความก้าวหน้าของผลการวิจัยโครงการ “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานินและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และแปลงสาธิต ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) พร้อมกับเยี่ยมชมพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ของเกษตรกร ณ หมู่บ้านเพชรดำ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
(ภาพจากhttp://welovethaiking.com/)
สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่เหมาะสมให้เกษตรกรในโครงการพระราชดำริปลูกเพื่อส่งเสริมผลผลิตเข้าโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป เป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่มูลนิธิโครงการหลวงร่วมพัฒนามาจากเมล็ดพันธุ์ลูกผสม โดยสามารถต้านทานโรคและทนทานต่อศัตรูพืช ผลผลิตเหมาะแก่การรับประทานสด และมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง ด้วยลักษณะดีหลายประการ คือ เมื่อเริ่มสุกมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน เนื้อผลแน่น ผลสุกมีสีแดงสดถึงแดงจัด รูปร่างของผลสวยงาม มีคุณค่าทางสารอาหารมากมายและเป็นแหล่งที่ให้เส้นใยอาหารได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบเพาะปลูกในเชิงการค้าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
อย่างไรก็ตามสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ดังกล่าวยังมีลักษณะด้อยบางประการ เช่น มีปริมาณแอนโทไซยานิน (สารต้านอนุมูลอิสระ) น้อย มีผิวบาง ช้ำเสียง่าย ไม่ทนต่อการขนส่ง ทำให้เกิดปัญหาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว คือ ผลสูญเสียทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ จึงควรมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีลักษณะคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้นและมีอายุการเก็บรักษายาวนาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
สำหรับสารแอนโทไซยานินนั้น เปนสารใหสีธรรมชาติในกลุมสารประกอบฟนอลิกและฟลาวนอยดที่มีขนาดใหญ จึงทําใหมีความแตกตางกันทั้งทางเภสัชวิทยาละชีววิทยามีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาละชีววิทยาที่หลากหลาย อาทิ ชวยตานอนุมูลอิสระ ลดอาการอักเสบ ลดคอเลสเตอรอล เพิ่มความแข็งแรงของเสนใยโปรตีนในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและกระดูกออน จึงช่วยลดความเสื่อมของเนื้อเยื่อ ช่วยชะลอการเสื่อมของผิวพรรณ ลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและตานไวรัส
คุณสมบัติเดนที่สุดของแอนโทไซยานินคือ ประสิทธิภาพในการตานอนุมูลอิสระละยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของกรดไขมันไมอิ่มตัว มีประสิทธิภาพในการตานอนุมูลอิสระสูงกวาวิตามินซีและอีถึง 2 เทาจึงนิยมนําไปใช้ผสมในเครื่องสําอาง (ข้อมูลจากประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
สกว. โดยโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และนายมงคล ศิริจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีมูลนิธิโครงการหลวงร่วมสนับสนุนทุน เพื่อปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ใหม่ให้มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงขึ้น จากคู่ผสม 6 สายพันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์พระราชทาน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ 80, 50, 70 และ 72 รวมทั้งสายพันธุ์ 329 จากอิสราเอล และอาคิฮิเมะจากญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาการขยายพันธุ์ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้พันธุ์จำนวนมาก และส่งเสริมให้เกษตรกรของมูลนิธิโครงการหลวงนำไปปลูกต่อไป อีกทั้งวิเคราะห์การแสดงออกของยีนที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ และตรวจสอบเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ของสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์พระราชทานและสายพันธุ์อื่น ๆ
รศ. ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ พวอ. สกว. กล่าวว่า การสนับสนับทุนวิจัยในโครงการนี้นับเป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและผู้ประกอบการในการสร้างองค์ความรู้เพื่อตอบสนองความต้องการและโจทย์ของผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง ในการส่งเสริมให้เกษตรกรของมูลนิธิโครงการหลวงได้ปลูกสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างอาชีพและรายได้มากขึ้น อีกทั้งสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทานด้วยเทคนิคการพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยและได้สายพันธุ์ที่ดี
ผศ. ดร.พีระศักดิ์ระบุว่า ปัญหาหนึ่งในการปลูกสตรอว์เบอร์รี คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนของไหล ส่งผลให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์แข็งแรง ถูกเข้าทำลายด้วยโรคและแมลง ดังนั้นต้นพันธุ์จึงมีโอกาสติดไวรัสสูง นอกจากนี้ผลผลิตที่ได้ยังมีคุณภาพต่ำ เกษตรกรจึงต้องเสียทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ในการดูแลรักษาต้นพันธุ์
จากเหตุดังกล่าวคณะวิจัยจึงขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พระราชทาน 80 เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากการเข้าทำลายของโรคและแมลง รวมถึงลดความเสี่ยงจากการติดไวรัส โดยคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีลักษณะดีแล้วตัดชิ้นส่วนไหลมาฟอกฆ่าเชื้อ นำชิ้นส่วนบริเวณเนื้อเยื่อเจริญปลายยอดมาเลี้ยงบนอาหารสูตรสังเคราะห์ เมื่อได้ต้นสตรอว์เบอร์รีที่มีรากจึงย้ายออกปลูก โดยแช่ในสารป้องกันกำจัดเชื้อรา แล้วจึงย้ายปลูกลงในวัสดุปลูก พร้อมกับรักษาความชื้นสัมพัทธ์ภายในกระโจมพลาสติก เมื่อต้นมีสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงจึงทำการย้ายปลูกลงในแปลงปลูกต่อไป ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาเว็บไซต์โรงเรือนปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อควบคุมการให้น้ำในระบบน้ำหยดและการให้หมอกผ่านทางโทรศัพท์มือถือด้วย
ขณะที่การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานิน ผู้วิจัยได้ปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม (Conventional breeding) ของพ่อและแม่พันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินและสารต่อต้านอนุมูลอิสระ โดยคัดเลือกพันธุ์ที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อผสมเกสรก่อนคลุมด้วยกระดาษไขสีขาวเพื่อป้องกันแมลงและลมที่จะนำเกสรตัวผู้จากดอกอื่นมาผสม แล้วจึงเย็บกระดาษปิดบริเวณปากถุงทั้งสองข้างให้สนิท ทิ้งไว้จนผลสุกมีสีแดงจัดเต็มที่ จากนั้นนำผลสุกมาฝานเพื่อแยกเมล็ดออกแล้วแช่ไว้ในตู้เย็นก่อนจะทำการเพาะเมล็ดและเก็บไว้ในโรงอนุบาลพลาสติกขนาดเล็ก จนได้ต้นกล้าขนาดเล็กแล้วนำต้นกล้าย้ายปลูกลงในกระถางปลูกพลาสติก เมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจึงนำไปบังคับให้เกิดตาดอกต่อไป หากพบว่าต้นใดให้ลักษณะเป็นที่ต้องการแล้วให้ขยายไหลจากต้นพันธุ์หรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อใช้เป็นต้นแม่พันธุ์ต่อไป
ด้าน ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง เผยว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีรับสั่งให้นักวิจัยศึกษาค้นคว้าการปลูกสตรอว์เบอร์รีเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น จนได้สายพันธุ์ใหม่ ๆ และพัฒนาพันธุ์เรื่อยมาก่อนใช้เป็นพันธุ์พระราชทานให้ชาวเขาในพื้นที่ในโครงการหลวง จึงเรียกติดปากว่าพันธุ์พระราชทาน สำหรับพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นพันธุ์ลูกผสมที่ทดลองปลูก ณ สถานีวิจัยดอยปุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อสิบปีที่แล้ว และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว นิยมปลูกกันมากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม้กระทั่งเขาค้อในปัจจุบันที่ระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700-800 เมตรขึ้นไป
สำหรับงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับ พวอ. และ สกว. ในการปรับปรุงพันธุ์พระราชทาน 80 ให้มีประโยชน์และคุณค่าต่อร่างกายมากขึ้นกว่าพันธุ์ดั้งเดิมหรือพันธ์ที่มีอยู่ทั่วไป คาดว่างานวิจัยจะสำเร็จและนำไปปลูกได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยจะต้องทดสอบพันธุ์ให้แน่นอนรวมถึงปริมาณแอนโทไซยานินระหว่างสายพันธุ์เก่าและสายพันธุ์ใหม่ก่อน
ทั้งนี้พันธุ์พระราชทาน 80 สามารถปลูกกระจายได้ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 1 หมื่นไร่ ได้ผลผลิต 3 ตัน ขายได้กิโลกรัมละ 200 บาทขึ้นไป แต่ละปีสร้างรายได้แก่เกษตรกรเกือบพันล้านบาท โดยทางภาคเหนือมีความหนาวเย็นมากกว่า ทำให้สตรอว์เบอร์รีออกดอกและให้ผลผลิตต่อเนื่องยาวนานกว่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตามพืชชนิดนี้ยังมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการสูงของนักท่องเที่ยวจึงสร้างรายได้แก่เกษตรกรได้มาก รวมถึงมีการส่งออกในลักษณะแปรรูปแช่แข็ง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นส่วนผสมในขนมต่าง ๆ
ล่าสุดยังมีพันธุ์พระราชทาน 88 ซึ่งเป็นพันธุ์พิเศษที่สุด โดย ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทำเรื่องกราบบังคลทูลขอพระราชทานชื่อพันธุ์เมื่อปีที่แล้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพันธุ์ในปีที่ตรงกับพระชนมายุ 88 พรรษา สายพันธุ์นี้ยังไม่ได้ทำการส่งเสริมการปลูก ขณะนี้มีปลูกที่เดียวที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง กำลังทดลองตลาด คัดบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง คาดว่าจะออกผลผลิตตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป ข้อพิเศษของสายพันธุ์นี้คือ มีกลิ่นหอมมาก ผิวค่อนข้างคงทนต่อการขนส่ง เนื้อผลละเอียดอ่อนแทบจะละลายในปาก ซึ่งจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมการปลูกต่อไป
“ขณะนี้พันธุ์พระราชทาน 80 ยังเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดและสามารถปรับตัวได้ดีกับทุกพื้นที่ในพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็น โดยในพื้นที่เขาค้อได้นำต้นไหลซึ่งเป็นต้นพันธุ์มาจากเชียงใหม่มาปลูกและให้ผลผลิตได้ดี แม้ช่วงการเก็บเกี่ยวจะสั้นกว่าภาคเหนือด้วยข้อจำกัดเรื่องสภาพอากาศ แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนสูงกับชาวบ้าน และจะส่งเสริมพันธุ์ใหม่ออกมาเรื่อย ๆ โครงการหลวงจะพัฒนาสายพันธุ์เพิ่มขึ้นใน 39 แห่งใน 6 จังหวัดภาคเหนือ และขยายพื้นที่ไปจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา โดยการให้ผลผลิตขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและข้อจำกัดของพื้นที่ราบเรื่องความหนาวเย็นในการออกดอกหรือให้ผลผลิต ทั้งนี้การปลูกด้วยไหลมี 2 เงื่อนไข คือ อุณหภูมิขั้นต่ำ 16-18 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืน เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ และระยะวันสั้น ได้รับแสงแดดน้อยกว่า 8-10 ชั่วโมงต่อวัน จึงจะชักนำให้เกิดช่อดอกและผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
ส่วนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังวิจัยอยู่น่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ดี ปรับตัวได้ดีและเข้ากับสภาพพื้นที่ในประเทศไทยได้ดีกว่าการนำพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาปลูก ซึ่งจะส่งเสริมให้รับประทานเพื่อบำรุงสุขภาพและต้านมะเร็งได้ในอนาคต แต่ไม่ว่าจะเป็นสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์พระราชทานใด ก็สามารถกระจายปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ของแผ่นดินไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงวางรากฐานให้กับมูลนิธิโครงการหลวงในการช่วยเหลือชาวบ้านเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวสรุป