ก.วิทย์-สวทช.-พันธมิตรจัดเวที
ถกมาตรฐานขนส่งจราจรอัจฉริยะ
รัฐบาลญี่ปุ่น โดยสถานฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกับ Japan Society of Automotive Engineering (JSAE) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Tech) สมาคมระบบขนส่งอัฉจริยะไทย (ITS Thailand) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทย์ฯ จัดประชุม “The Symposium on ITS Standardization (ITS Symposium)” ณ สถานทูตญี่ปุ่นฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านมาตรฐานขนส่งและจราจรอัจฉริยะ หรือ ITS เพื่อสร้างมาตรฐานสากลรองรับระบบขนส่งไทย
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนา “The Symposium on ITS Standardization (ITS Symposium)” ร่วมกับนายทามัชชึ คาวามูระ จากคณะกรรมการมาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น โดยนายธีระพงษ์กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะ หรือ ITS เข้ามามีความสำคัญกับภาคการขนส่งของไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นระบบที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้มีการสื่อสารระหว่างกันได้ระหว่างคน รถและถนน ไทยกำลังนำ ITS มาใช้เพื่อมุ่งแก้ปัญหาให้กับภาคการขนส่งไทย โดยเน้นแก้ปัญหาสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ ด้านความปลอดภัยและการจราจร
ทั้งนี้ระบบขนส่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ถนน รถและคนที่เป็นผู้ใช้รถใช้ถนน ปัญหาใหญ่ของไทยคือ อุบัติเหตุ เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 20,000 คนต่อปีและการจราจร ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและฝ่ายวิชาการได้แก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จและยอมรับว่า จำเป็นต้องใช้การลงทุนมหาศาล มีการสร้างถนนมากมายเพื่อแก้ปัญหารถติด จนในเมืองใหญ่ไม่มีที่ให้สร้างถนนแล้ว ส่วนอุบัติเหตุมีการแก้ไขทุกอย่าง ลงทุนในการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับถนน ลงทุนทุกอย่าง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ประชาชนและภาครัฐคาดหวัง
ขณะนี้ ITS ได้ก้าวมาในภาคการขนส่งและกิจกรรมด้านการขนส่ง ถนนในหลายประเทศ เป็นถนนอัจฉริยะหรือ smart road ส่วนรถเป็น smart vehicle แล้ว ภาระที่ภาครัฐต้องทำมี 2 เรื่องคือ 1. ทำอย่างไรให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เป็น smart user ให้ได้ 2. การลงทุนสร้าง smart road smart vehicle นำsmart vehicleมาใช้ ทำอย่างไรจะให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่ากับการลงทุน โดยต้องมีการสื่อสารกันได้ระหว่าง รถ ถนนและคน
“ยกตัวอย่าง ปัจจุบันมีการลงทุนติดตั้งป้าย ทุกถนนทั่วประเทศที่มีอยู่ 500,000 กิโลเมตร ทั้งของกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง เป็นของกรมทางหลวงชนบทประมาณ 100,000 กิโลเมตร มีใครอ่านป้ายบ้าง ทั้งป้ายควบคุมความเร็วทั่วประเทศ คงทราบกันดีว่าการปฏิบัติตามกันน้อยมาก ทำอย่างไรให้ป้ายพวกนี้จะเป็นป้ายอัจฉริยะที่สามารถบอกรถที่ผ่านมาได้เลยว่า ต้องลดความเร็ว แล้วถ้ารถไม่ลดความเร็ว ทำอย่างไรให้ป้ายสามารถบอกคนที่อยู่รอบข้างได้ว่า รถคันดังกล่าวไม่ยอมลดความเร็วในขณะที่เข้าโค้ง ”
นายธีระพงษ์ยังกล่าวอีกว่า “ในมิติของการบริหาร ขณะนี้รถยนต์ที่เป็นสมาร์ทเวอิเคิลสามารถเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ สามารถส่งข้อมูลใช้สำหรับการบริหารการขนส่งและการจราจร อุบัติเหตุได้ทั้งหมด ดังนั้นในขณะนี้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาล กำลังคิดอย่างหนักในเรื่องนี้ เราต้องสามารถบริหารจัดการข้อมูล เช่น ใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลจากแท็กซี่ที่ติดGPS อยู่รอบกรุงเทพ เราไม่ต้องไปเก็บข้อมูลข้างถนนแบบเดิมแล้ว ว่าความเร็วเฉลี่ยเท่าไหร่ สูงสุดเท่าไหร่ กลางวันเท่าไหร่ เฉลี่ยต่อวันเท่าไหร่ เพราะรถกลายเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ของเรา นำมาใช้ในการบริหารด้านการขนส่งได้ นอกจากนี้ยังมีรถอีกหลายประเภทที่ติดGPS แล้ว อาทิ รถบรรทุกสินค้าอันตรายซึ่งกรมขนส่งทางบกบังคับติดไปแล้ว 12,000 คัน ปลายปี 2562 รถในระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดจะติดตั้ง GPS ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600,000-700,000 คัน
ส่วนสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลของเมืองได้ทั้งหมดว่า ออกจากบ้านช่วงไหน เดินทางด้วยความเร็วเท่าไหร่ ถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไหร่
นอกจากนี้รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก ยังมีระบบควบคุม ระบบเครื่องยนต์ที่อัจฉริยะแล้ว ที่เรียกว่า ECU จะบันทึกไว้หมดว่า มีพฤติกรรมการขับรถของคนขับเป็นอย่างไร ทำอย่างไรกระทรวงคมนาคม กรมขนส่งทางบกจึงจะกำหนดมาตรฐาน ITS ให้เป็นมาตรฐานสากล เป็นมาตรฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการขนส่งของไทย ทำอย่างไรให้มีระบบ ITS ถูกกำหนดเป็นส่วนควบกับตัวรถติดตั้งมาจากโรงงานผลิตเลย ไม่มีการมาลงทุนเพิ่ม เช่น ITS ที่จะนำไปใช้ด้านความมั่นคงใน 5 จังหวัดภาคใต้ ถ้ากำหนดไว้เลยจะไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น”
ด้านดร.ภาสกร ประถมบุตร ผู้อำนวยการอาวุโสโปรแกรมฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัยคลัสเตอร์ สวทช. กล่าวว่า “การจัดงาน Symposium on ITS Standardization เป็นการนำเสนอมาตรฐาน ISO/TC204 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการขนส่งและจราจรอัจฉริยะ หรือ Intelligent Transport System (ITS) เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้ความเข้าใจในมาตรฐาน ITS ที่มีอยู่ในระดับสากล ซึ่งการจัดงานครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้หน่วยงานผู้กำกับดูแลการใช้งานอย่างกระทรวงคมนาคม หน่วยงานผู้กำกับดูแลการประกาศการใช้ระบบมาตรฐานในประเทศอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ. และหน่วยงานผู้พัฒนาเทคโนโลยีอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ตลอดจนภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ได้มาพบปะหารือกัน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และหารือแนวทางในการเลือกและนำมาตรฐานที่สำคัญมาปรับใช้ในประเทศ
ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมที่จะวางแผนในการดำเนินธุรกิจ ภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการ รวมถึงภาคการศึกษาวิจัย หากมีการกำหนดและมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้สะดวก ทั้งในส่วนที่มีการแลกเปลี่ยนขัอมูลและการดำเนินงาน ทำให้อุตสาหกรรม การศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกันและสามารถสื่อสารในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
“ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยสวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในการจัดทำมาตรฐาน ITS โดยจะสนับสนุนเรื่องวิจัยพัฒนาและเทคนิคในการทำงานด้านมาตรฐาน เสมือนตัวเชื่อมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อนำไอซีที หรือดิจิทัล เทคโนโลยีไปใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและมีมาตรฐานรองรับการทำงานในด้านนี้”
สำหรับภายในงานจัดให้มีการบรรยายพิเศษ โดยเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน ISO/TC 204 – Intelligent transport systems ซึ่งเป็นมาตรฐานเฉพาะของระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ โดยเฉพาะข้อมูลในกลุ่มที่สำคัญ เช่น Traveler Information System (ระบบสารสนเทศเพื่อการเดินทาง), Wide area Communications/protocols and interfaces (การสื่อสารในพื้นที่กว้าง/โปรโตคอลและการเชื่อมต่อ และอุปกรณ์พกพา) Fee and toll Collection (ค่าธรรมเนียมและค่าผ่านทาง) และ General fleet management and commercial/freight (การจัดการยานพาหนะทั่วไปและการค้า/การขนส่งสินค้า และการขนส่งสาธารณะ/ฉุกเฉิน) เป็นต้น เพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมหารือในการกำหนดมาตรฐานของ ITS ในไทย หรือมาตรฐานITS ที่เหมาะกับประเทศไทยต่อไป