มุมเกษตร..วช.หนุนถ่ายทอดวิจัย
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ “สุวรรณ4452”
บนถนนมิตรภาพ ใครที่ผ่านมาเส้นทางนี้คงไม่พลาดที่จะแวะร้านค้ายอดฮิตร้านหนึ่ง ได้แก่ “ร้านไร่สุวรรณ” ของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขต ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อช้อปของฝากธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่าง “ข้าวโพดหวาน” และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ แต่ความจริงแล้วศูนย์แห่งนี้มีงานวิจัยหลายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของไทย รวมถึง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์สุวรรณ 4452” ที่เปิดกว้างพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรที่สนใจ
วช.พาชมไร่สุวรรณ-เทคโนฯการผลิตข้าวโพด-ผลิตเมล็ดพันธุ์
ทั้งนี้ “ข้าวโพดหวาน” หรือ “ข้าวโพดหวานอินทรีย์2” มีรสชาติ หอมหวาน ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของไร่สุวรรณ ผลงานวิจัยของดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมงาน ซึ่งใช้เวลาศึกษาวิจัยอยู่นานประมาณ 6 ปี กว่าจะสามารถนำออกสู่ตลาดให้ได้ชิมกันมาในปี 2542 และยังคงได้รับความนิยมมากระทั่งปัจจุบัน
แต่ทางศูนย์ฯแห่งนี้ ไม่ได้มีดีแค่ข้าวโพดหวานเท่านั้น ซึ่งเมื่อเร็ว ๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ได้พาเข้าชมอีกหนึ่งผลงานเด่นของทีมงานดร.โชคชัย ผ่านโครงการสื่อมวลชนสัญจร เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์สุวรรณ 4452 ในเขตจังหวัดนครราชสีมา” โดยมีนายธีรวัชร ภรสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช.เป็นประธานเปิดกิจกรรม
นายธีรวัชร เปิดเผยว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย แต่ละปีมีมูลค่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 46,733 ล้านบาท ขณะที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 5.51 ล้านตัน ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการแก้ปัญหาโดยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน และในปีต่อ ๆ มา การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีผลผลิตลดลงต่อเนื่องผลจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง
จากการที่รัฐบาลได้วางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอาเซียนและสามารถผลิตข้าวโพดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอและมั่นคง คือ ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
ทั้งนี้วช.ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกร โดยการเผยแพร่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์สุวรรณ 4452เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อไปได้ในภาวะที่มีการแข่งขัน และได้สนับสนุนทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมประจำปี 2558 แก่ ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรษและคณะ แห่งศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ(ไร่สุวรรณ) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัยข้าวโพด เทคโนโลยีการผลิตและการผลิตเมล็ดพันธุ์ของมหาวิทยาลัย เพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้กับเกษตรกร รวมถึงสร้าง Smart & Green Farmer โดยร่วมมือกับสภาเกษตรจังหวัดนครราชสีมา และให้โอกาสเกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของมหาวิทยาลัยในราคาต่ำกว่าพันธุ์การค้าอื่น ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดต้นทุนในการผลิตด้วย ซึ่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
“เป็นการสนับสนุนให้นำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์จริง ๆ แก่เกษตรกร ไม่ใช่เก็บไว้บนหิ้ง โดยเฉพาะเกษตรกรในท้องถิ่น โดยทุนที่สนับสนุนครั้งนี้มีมูลค่า 610,000 บาท”
ทำวิจัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานานกึ่งศตวรรษ
ด้านดร.โชคชัย ได้บอกเล่าความเป็นมาศูนย์วิจัยฯและการวิจัยข้าวโพดว่า ในปี พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับมอบไร่ “ธนะฟาร์ม” ซึ่งเดิมเป็นไร่ของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ จึงได้จัดตั้งเป็นสถานีฝึกนิสิตเกษตร ชื่อว่า ” สถานีฝีกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจ” เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ปฐมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.สุวรรณ เกษตรสุวรรณ เป็นหัวหน้าสถานีคนแรก และให้สังกัดอยู่กับคณะเกษตร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 มูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ ได้ให้ความช่วยเหลือโครงการข้าวโพดและข้าวฟ่างในประเทศแถบเอเชีย (Inter-Asian Corn and Sorghum Program) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับกรมกสิกรรม(กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาข้าวโพดและข้าวฟ่างภายใต้ความช่วยเหลือของมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์โดยใช้พื้นที่ของสถานีฝึกนิสิตเกษตร สุวรรณวาจกกสิกิจแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงาน ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งขึ้นเป็น ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2512 โดยสังกัดอยู่กับสำนักงานอธิการบดี มีนายอัญเชิญ ชมภูโพธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีฯ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติด้วย
ในปี พ.ศ. 2522 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น ทั้งศูนย์วิจัยข้าวโพด และข้าวฟ่างแห่งชาติและสถานีฝึกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจได้โอนย้ายมาสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีฝึกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น คือการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตพืชไร่เศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ยังคงงานฝึกนิสิตซึ่งเป็นภารกิจหลักไว้
ต่อมาปี พ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดตั้งสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาด้านพืชศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเฉพาะทางขึ้น ทั้งศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ และ สถานีวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ ก็ได้โอนย้ายมาสังกัดสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ
ในส่วนงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นั้นได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ โดยพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สร้างชื่อแก่หน่วยงานและประเทศชาติ และได้เผยแพร่สู่เกษตรกร ภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มี 3 ประเภท ได้แก่ 1) พันธุ์ผสมเปิดที่เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ต่อได้ คือ พันธุ์สุวรรณ 1 สุวรรณ 2 สุวรรณ 3 และสุวรรณ 5 2) พันธุ์ลูกผสม ได้แก่ สุวรรณ 2301 สุวรรณ 2602 สุวรรณ3101 สุวรรณ3504 สุวรรณ3601 สุวรรณ 3851 และสุวรรณ 4452 3)ข้าวโพดสายพันธุ์แท้ เพื่อนำไปใช้ในการสร้างพันธุ์ลูกผสมและการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แท้เกษตรศาสตร์ 1 –เกษตรศาสตร์ 60
ดร.โชคชัย กล่าวว่า นับแต่ศึกษาวิจัยมาปี 2518-2541 จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ประเมินว่า ผลงานวิจัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของศูนย์ฯสามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติราว 46,000 ล้านบาท แต่ตนเชื่อว่า สูงกว่านั้นประมาณ 300,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการวิจัยที่ใช้ทุนน้อย แต่ได้ผลเกินคุ้มค่า
เพิ่มทางรอดเกษตรกร ถ่ายทอดเทคโนฯข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างหนึ่งของไทย ตัวเลขในปี 2558 มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 7.21 ล้านไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 664 กก.ต่อไร่ ผลผลิตรวม 4.2 ล้านตัน ในปี 2556 พบว่า พื้นที่ปลูก 95% เป็นการปลูกโดยอาศัยน้ำฝน ปลูกมากสุดที่เพชรบูรณ์ น่าน นครราชสีมา เลยและตาก ผลผลิต 95% หรือราว 4.8 ล้านตัน ป้อนโรงงานอาหารแปรรูปอาหารสัตว์ โดยใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ในสัดส่วน 34% (อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร ปลาและอื่น ๆ )มูลค่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมากกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี
ในปี2558 มีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 5.72 และมีการผลิตในปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านมาชดเชยราว 0.174 ล้านตันและมีการส่งออก 0.081 ล้านตัน ส่งผลทำให้ราคาข้าวโพดในประเทศตกต่ำ
นอกจากนี้เกษตรกรยังประสบปัญหาหลายอย่างรุมเร้า ทั้งด้านการผลิต โดยในปี 2557 ต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุ่งมากกว่า 4,800 บาทต่อไร่และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ คิดเป็นต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ 10-12% ขณะที่ราคาผลผลิตไม่มีเสถียรภาพ ปัญหาฝนทิ้งช่วง ฝนตกหนัก โรคระบาด และผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยโลก ซึ่งอยู่ที่ 865 กก.ต่อไร่
การแก้ปัญหาจึงต้องมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มในพื้นที่ป่า พื้นที่นาที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การกระจายการผลิตเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตกระจุกตัว ความชื้นสูง คุณภาพต่ำและทำให้เกษตรกรขายได้ในราคาต่ำ
ทางแก้ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาการผลิตเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่เหมาะสม พื้นที่เหมาะสมปานกลางและพื้นที่ปลูกทดแทน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพดีและสามารถปรับตัวได้ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรอย่างเร่งด่วน ในขณะเดียวกันได้ส่งเสริมการปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เพื่อปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดการใส่ปุ๋ยและเสริมรายได้ในระบบการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อความมั่นคงในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศ
ปลูกแปลงเกษตรผลผลิตสูง850กก.ต่อไร่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยจังหวัด
ดร.โชคชัยเล่าว่า ได้เริ่มพัฒนา “สุวรรณ 4452” มานับแต่ปี2543 โดยผสมสายพันธุ์แท้ KI 48 หรือ Kei 0102 กับตัวทดสอบสายพันธุ์แท้ KI 47ได้ลูกผสมเดี่ยว KESX 0016 มา จากนั้นในปี 2544 ได้ทดสอบลูกผสมปีที่ 2 ในสถานีทดลองและไร่เกษตรกรรวม 76 แห่ง และตั้งชื่อคู่ผสม Kei 0102x Ki 7 เป็น สุวรรณ 4452 ต่อมาในปี 2545 ได้ทดสอบลูกผสมปีที่ 3 ในสถานีทดลองและไร่เกษตรกร 49 แห่งและเริ่มทดลองผลิตเมล็ดพันธุ์ จากนั้นในปี 2546 ทำการทดสอบลูกผสมปีที่ 4 ในสถานีทดลองและไร่เกษตรกร 29 แห่งและเริ่มเผยแพร่พันธุ์สุวรรณ 4452 สู่เกษตรกร ภาครัฐและเอกชนในปีดังกล่าว
พันธุ์สุวรรณ 4452 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,151-1,430 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ CP-DK 888 และพันธุ์นครสวรรค์ 72 โดยพันธุ์สุวรรณ 4452 สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมตั้งแต่ระดับเลวถึงระดับดี และเป็นพันธุ์ที่ทนแล้งและฝนตกหนักได้ดีพอสมควร จึงเป็นพันธุ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงของสภาพฟ้าอากาศที่แปรปรวน ซึ่งมีผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร เมล็ดสีส้มเหลืองหัวแข็ง แห้งเร็ว เก็บไว้ได้นาน มอดเกาะช้ากว่า โดยเก็บไว้ 1-2 เดือนมอดไม่เกาะ ที่สำคัญมีปริมาณเนื้อสูง 100 กก.ได้เนื้อ 82%
ที่ผ่านมาเคยได้รับรางวัลมาหลายรางวัลด้วยกัน อาทิ รางวัลชนะเลิศในการประกวดนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2556 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคลากรซีเนียร์ เมื่อเดือนมีนาคม 2557 รางวัลสุดยอดนวัตกรรมประเภทบุคลากร ในงานเดียวกันและรางวัลผลวิจัยที่สร้างผลกระทบ ปี 2556 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รางวัลระดับ Silver เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2557
สำหรับงานถ่ายทอดเทคโนโลยีล่าสุด ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีได้ร่วมกันสร้างเกษตรกรต้นแบบและให้มีการพบปะกันระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัยกับเกษตรกร พร้อมทั้งมีการฝึกอบรมหลักสูตร พันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 4452 ให้กับเกษตรกรผู้นำ 20 อำเภอ จังหวัดนครราชสีมา ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2558 รวม 103 คน
ต่อมาฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ฯให้กับเกษตรกรผู้นำ 20 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมาในเดือนมิถุนายน 2558 ตามด้วยการปลูกในแปลงสาธิตของเกษตรกรต้นแบบ ที่ต.ระเริง อ.วังน้ำเขียวและบ้านปางอโศก ต.ปางอโศก อ.ปากช่อง มีการติดตามผลและประเมินความสำเร็จโครงการ
ผลปรากฏว่า การจัดฝึกอบรม สร้างความพึงพอใจให้แก่เหล่าเกษตรกรเป็นอย่างมาก ส่วนการติดตามการปลูกในแปลงสาธิตทั้งสองแห่งปรากฏว่า สุวรรณ 4452 ให้ผลผลิตเมล็ดที่ความชื้นเมล็ด 15% ผลผลิต 886 กก.ต่อไร่ และ 850 กก.ต่อไร่ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดนครราชสีมา ที่ 756 กก.ต่อไร่ราว 17.2% และ 12.4% ตามลำดับ สูงกว่าเป้าหมายที่ดร.โชคชัยและทีมงานวางไว้อย่างน้อย 20%
ส่วนการฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์พบว่า เกษตรกรพอใจการฝึกอบรมและผลการปลูกในแปลงสาธิต 8 ไร่พบว่า ผลผลิตเมล็ดพันธุ์หลังปรับสภาพอยู่ที่ 1,795กก. หรือ 224.38 กก.ต่อไร่ สูงกว่าการผลิตเมล็ดภัณฑ์ของศูนย์วิจัยฯเสียอีก ซึ่งอยู่ที่ 200 กก.ต่อไร่ หรือสูงกว่า 12.2%
โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีประสบความสำเร็จด้วยดี สามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรได้โดยใช้พันธุ์สุวรรณ 4452 เช่นเดียวกับการสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในราคาต่ำกว่าเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพันธุ์การค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ในการผลิตให้กับเกษตรกรได้ราว 66.7-100% หรือราว 180-300 บาทต่อไร่
ขณะเดียวกันยังเกิดเกษตรกรต้นแบบขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อแก้ปัญหาระหว่างเกษตรกรและนักวิจัย ตลอดจนได้สร้างเครือข่ายการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอื่น ๆ
ในอนาคตจึงควรส่งเสริมให้มีการผลิตเมล็ดพันธุ์และขยายการใช้ข้าวโพดพันธุ์นี้ให้แพร่หลายเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถอยู่รอดได้ อย่างแข็งแกร่ง
ใครสนใจสามารถติดตามข่าวสารการอบรมของทางศูนย์วิจัยฯหรือไร่สุวรรณได้ หรือสนใจปลูกข้าวโพดพันธุ์อื่นก็ได้ ซึ่งนอกจากข้าวโพดหวานแล้ว ยังมีพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนและพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูงสีม่วง ที่มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง โรคราสนิมและโรคทางใบอื่น ๆ รวมทั้งมีความแข็งแรงของระบบรากและลำต้น และข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวเพื่อผลผลิตและน้ำมันสูง…