วช.นำนักวิจัยนักประดิษฐ์ไทย
คว้ารางวัลจาก5เวทีนานาชาติ
วช.โชว์ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากการร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีนานาชาติ 5 เวที ได้แก่ ไต้หวัน 2 เวที โปแลนด์ จีนและเกาหลีใต้ พร้อมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ระหว่างนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการไทย 5 ผลงาน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ชี้เป็นการเสริมสร้างบุคลากรมีความสามารถในการวิจัย ผลิตผลงานนวัตกรรม สอดพ้องนโยบายรัฐที่มุ่งสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม ไทยแลนด์4.0
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า วช.ได้ส่งเสริมสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่มีคุณภาพและมีศักยภาพเข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมา วช.ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยไปคว้ารางวัลเกียรติยศจากหลายประเทศ รวมไต้หวัน โปแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐเกาหลี
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ชื่นชมในความรู้ความสามารถของนักวิจัยประดิษฐ์ไทย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายมุ่งสู่เศรษฐกิจนวัตกรรมหรือไทยแลนด์ 4.0 มีการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม จึงต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถผลิตคิดค้น ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริมเป็นจำนวนมากขึ้น ส่งเสริมการนำผลงานสู่เวทีนานาชาติ เพื่อให้มีประสบการณ์ เกิดความร่วมมือระดับประเทศ มีการแลกเปลี่ยน นำเสนอผลงานในเวทีโลกและนำสู่การผลิตจริง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์บริการเพิ่มขึ้น นักวิจัยนักประดิษฐ์ไทยจึงเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
ในโอกาสเดียวกันนี้พลอากาศเอก ประจิน ยังเป็นประธานในพิธีลงนามร่วมมือมือในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ระหว่างนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการไทยด้วย 5 ผลงาน ได้แก่ ชุดหุ่นยนต์เสริมการเรียนรู้ “สื่อสาร” เครื่องสลายนิ่วความแม่นยำสูง หมอนยางพารา ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบสนามฝึกยิงปืนเสมือนจริงชุดเล็ก พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ไทยที่เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีนานาชาติด้วย
สำหรับเวทีที่วช.นำทัพนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทยไปแสดงความสามารถมีดังนี้
เวทีแรกได้แก่ งาน “12th Taipei International Invention Show & TechnomartW (INST 2016) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน-1ตุลาคม 2559 ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน โดยการสนับสนุนของ The Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) ซึ่งทางวช.ได้นำผลงานที่มีคุณภาพของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด จำนวน 24 ผลงาน จาก 11 องค์กร/หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัททรู คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ภายในงานมี 11 หน่วยงานจากมากกว่า 19 ประเทศเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน ซึ่งนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยคว้ารางวัลเหรียญทอง 4 ผลงาน เหรียญเงิน 5 ผลงาน เหรียญทองแดง 6 ผลงาน และรางวัลพิเศษ อีก 10 รางวัลจากไต้หวัน โปแลนด์และเกาหลีใต้
เวทีที่ 2 งาน “10th International Warsaw Invention Show” (IWIS 2016) ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2559 ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยการสนับสนุนจาก The Association of Polish Inventors and Rationalizers วช.ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรนำผลงานร่วมนำเสนอ 10 ผลงานจาก 6 องค์กร/หน่วยงาน ส่วนภายในงานมีผลงานเข้าประกวด 400 ผลงานจาก 23 ประเทศ ซึ่งไทยคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ 2 ผลงาน รางวัลเหรียญทอง 2 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 3 ผลงน รางวัลเหรียญทองแดง 2 ผลงานและรางวัลพิเศษ 10 รางวัล
นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลสูงสุดที่น่าภาคภูมิใจมาด้วย คือ รางวัล Platinum จำนวน 1 ผลงาน ได้แก่ “EPO Pro Test” ซึ่งได้รับรางวัล Special Prize On Stage จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคบูคาเรสต์ โรมาเนียและรางวัล The First Institue of Inventors and Researchers of Iran (FIRI) สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
เวทีที่3 งาน “9th International Exhibtion of Inventions,Kunshan (IEIK 2016) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2557 ณ เมืองคุนซาน สาธารณรัฐประชาชน โดยการสนับสนุนจาก International Federation of Inventors’ Associations (IFIA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วช.นำผลงานนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าประกวด 7 ผลงาน จาก 3 องค์กร/หน่วยงาน ซึ่งในงานมีกว่า 1,000 ผลงานจาก 38 ประเทศ ไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง 2 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 4 ผลงาน เหรียญทองแดง 1 ผลงาน รางวัลพิเศษบนเวที(Special Prize Onstage) 1 รางวัลและรางวัลพิเศษ 7 รางวัล
เวทีที่ 4 งาน “Seoul International Invention Fair 2016” (SIIF 2016) ระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2559 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรส่งเสริมด้านการประดิษฐ์คิดค้นของสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Invention Promotion Association -KIPA) วช.นำผลงานเข้าประกวด 66 ผลงานจาก 19 องค์กร ในงานมีผลงานเข้าประกวดรวมกว่า 1,000 ผลงานจาก 33 ประเทศ
ไทยคว้ารางวัลมามากถึง 92 รางวัล รวมรางวัลระดับ Grand Prize 1 รางวัล รางวัลระดับ Semi-Grand Prize 1 รางวัล รางวัลเหรียญทอง 15 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 27 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง 21 ผลงาน รางวัล Special Prize On Stage 4 รางวัล และ รางวัลพิเศษ 23 รางวัลจาก 10 ประเทศ
เวทีที่ 5 งาน “2016 Kaohsiung International Invention & Design EXPO” (KIDE 2016) ซึ่งจัดระหว่าง 9-11 ธันวาคม 2559 เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน โดยการสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเกาสง วช.นำผลงานเข้าร่วม 12 ผลงาน จาก 9 องค์กร/หน่วยงาน ขณะที่ภายในงานมีผลงานส่งประกวดรวม 500 ผลงานจาก 20 ประเทศ ไทยคว้ารางวัลเหรียญทอง 7 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 2 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง 3 ผลงาน รางวัลพิเศษ 13 ผลงานและรางวัลพิเศษ ที่ได้รับบนเวที 1 รางวัล
ตัวอย่างผลงานที่นำมาโชว์
นวัตกรรมจากหญ้าแฝกมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
หมอนยางพารา วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน จ.พัทลุง
ตู้ออมเงินอัจฉริยะในโรงเรียน ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนยข้าวไรซ์เบอร์รี่
ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ของอาทิตย์เวนติเลเตอร์