รมว.วิทย์ฯคนใหม่เยี่ยมสวทน.
ดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจวทน.
“ดร.อรรชกา” รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติหรือสวทน.ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่เพื่อรับทราบข้อมูลการดำเนินงานและให้นโยบาย โดยดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. พร้อมผู้บริหารระดับสูงให้การต้อนรับ นำเสนอข้อมูล ผลงานเด่นและกิจกรรมเร่งด่วนของสวทน. อาทิ โครงการสตาร์ทอัพ สวทน. ร่วม30มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อีกทั้งปรับปรุงหลักสูตรให้นักศึกษาทุกคณะมีทักษะการธุรกิจนวัตกรรม ปี 60จะขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมอาหาร
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. กล่าวรายงาน ต่อ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มาตรวจเยี่ยมสวทน.ว่า โครงการที่สำคัญและเป็นกิจกรรมเร่งด่วนของสวทน.คือ โครงการสตาร์ทอัพ สวทน. ร่วม30มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อีกทั้งปรับปรุงหลักสูตรให้นักศึกษาทุกคณะมีทักษะการธุรกิจนวัตกรรม
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ให้โอกาสนักเรียนที่จบการศึกษาสายสามัญจากโรงเรียนในชนบท ได้มีโอกาสปฎิบัติงานจริงในตำแหน่งงานในสายการผลิต และนำเอาความรู้จากงานที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน และวิชาเรียนในหลักสูตร คือ โครงการบูรณาการการเรียนกับการทำงาน (STI–WiL) โดย สวทน. ร่วมกับสถานประกอบการอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิค มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี โดยคาดการณ์ว่า ในปีการศึกษา 2560 จะมีนักศึกษาเข้าโครงการกว่า 300 คน ปัจจุบันมีสถานประกอบการในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เข้าร่วมโครงการ 11 บริษัท และมี 5 บริษัทได้ขอรับสิทธิประโยชน์จากโครงการซุปเปอร์คลัสเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกันมากกว่า 35,000 ล้านบาท
สวทน. ยังได้นำเสนอโครงการการคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยีตามห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ด้วยวิธีการคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยีที่เป็นการดำเนินงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา โดยการเริ่มต้นจากการวิเคราะห์หาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ และนำผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มาวิเคราะห์ในรายละเอียดนำไปสู่โรดแม็ป สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในเชิงเทคโนโลยี เลขา สวทน. กล่าว
สำหรับโครงการที่สำคัญที่จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนในปี 2560 นั้น ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า คือ โครงการนวัตกรรมอาหารโดยจะมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภายในของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่มีความพร้อมและศักยภาพสูง อาทิ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ รวมถึง กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ทั้งนี้ดร.อรรชกา ยังได้ร่วมประชุมเตรียมการจัดทำร่างแผนการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศและกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี โดยมี สวทน. เป็นฝ่ายเลขานุการร่วมของคณะทำงานฯ โดยเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการร่างกฎหมายต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อาทิ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานและการให้ใบอนุญาต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงแผนการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศให้สอดคล้องกับภารกิจของคณะอนุกรรมการภายใต้สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (นวนช.) แต่ละชุด เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานให้กับคณะอนุกรรมการฯ รวมถึงการเชิญภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชารัฐมาร่วมดำเนินการ เพื่อให้กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี มีความชัดเจน ครอบคลุม และตอบสนองความต้องการของประเทศ ก่อนนำเสนอต่อ นวนช. และยังช่วยสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ อันจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไป