มหิดล.-มจธ. ‘ทุนนักวิจัยแกนนำ’
ดึงภูมิคุ้มกันสู้มะเร็ง/วิจัยอาหาร
ศ.นพ. สุรเดช หงส์อิง แห่งคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและศ.ดร. แชบเบียร์ กีวาลา บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) คว้าทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2559 มูลค่ากว่า 40 ล้านบาทจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสวทช.เป็นระยะเวลา 5 ปี มุ่งพัฒนานวัตกรรมรักษามะเร็งด้วยวิธีเพิ่มภูมิคุ้มกัน เบื้องต้นมุ่งปราบมะเร็งต่อมหมวกไตและมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กก่อน ส่วนอีกทีมวิจัยมุ่งศึกษาให้ได้ข้อมูลหนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านอาหารและพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานในพิธีลงนามในสัญญามอบทุนกว่า 40 ล้านบาทแก่ทีมนักวิจัยที่ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2559 กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและแสวงหากลไกที่จะเอื้อให้นักวิจัยทำงานวิจัยและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการทุนนักวิจัยแกนนำของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นกลไกที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในการให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่ เพื่อให้นักวิจัยที่มีขีดความสามารถสูงทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ การดำเนินการของโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวเป็นแนวทางที่ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดแรงจูงใจและมีผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม
“ขอแสดงความยินดีกับผู้บริหารของทั้งสองสถาบัน ตลอดจนผู้รับทุนนักวิจัยแกนนำและคณะเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งขอเชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันช่วยสนับสนุน ส่งเสริม กลุ่มนักวิจัยแกนนำนี้ ให้มีความคล่องตัวในการทำงาน เพื่อให้ทีมวิจัยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจนบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ ตลอดจนช่วยผลักดันกลุ่มวิจัยที่มีศักยภาพทั้งสองกลุ่มนี้ให้มีโอกาสแสดงผลงานและความสามารถ เพื่อก้าวจากนักวิจัยชั้นนำของประเทศ สู่การเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของโลก พร้อมทั้งช่วยสร้างบุคลากรวิจัยมืออาชีพและผลิตกำลังคนระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ให้กับประเทศต่อไป” ดร.อรรชกากล่าว
ด้านดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า สวทช. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง โครงการทุนวิจัยแกนนำ เป็นโครงการหนึ่งที่สนับสนุนให้นักวิจัยที่มีคุณภาพสูงได้สร้างสรรค์และถ่ายทอดผลงานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยหวังว่าจะเกิดผลกระทบระดับสูงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง
และตามที่ สวทช. เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2559 นั้น ทุกข้อเสนอโครงการได้ผ่านการพิจารณาอย่างเข้มข้น โดยมีนักวิจัยแกนนำที่ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2559 จำนวน 2 ท่าน
ท่านแรกได้แก่ ศ.นพ. สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษามะเร็งด้วยวิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกัน” (Development of innovative therapy for cancer; adoptive immunotherapy) ซึ่งเป็นนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานวิจัยโดดเด่นทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา มีความสนใจการศึกษานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยแนวทางใหม่ๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานการรักษาในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ภายใต้โครงการนี้ คณะผู้วิจัยจะพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ความรู้ทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา เพื่อนำไปใช้จริงในทางคลินิกสำหรับรักษาโรคมะเร็งในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงมาตรฐานการรักษาที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับงานวิจัย และมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย ให้มีคุณภาพในระดับสากล รวมถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติด้วยการเปิดรับผู้ป่วยจากต่างประเทศที่จะเข้ามารักษาในประเทศไทยอีกด้วย
ศ.นพ.สุรเดช เปิดเผยว่า มะเร็งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาโรคมะเร็งสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การบำบัดด้วยฮอร์โมน การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด เป็นต้น ซึ่งวิธีการรักษาเหล่านี้ขึ้นอยู่กับชนิด ระยะของโรค การกระจายของโรค รวมไปถึงความแข็งแรงของผู้ป่วย และวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาก่อน
อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวยังมีโอกาสทำลายเซลล์ปกติในร่างกายนอกเหนือจากการทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ตามมาเช่น ศีรษะร่วง ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอและอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน และอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยค้นหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งสมัยใหม่มุ่งเน้นการค้นหาตัวยาหรือวิธีการรักษาที่มีความจำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งมากขึ้น เพื่อลดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติในร่างกายดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในวิธีการรักษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ได้แก่ วิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยอาศัยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลายเซลล์มะเร็ง เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันที่นำมาใช้นั้นเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเอง จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย โดยมุ่งความสนใจในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระบบประสาทซิมพาเธติกชนิดนิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma) เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด
สำหรับมะเร็งระบบประสาทซิมพาเธติกชนิดนิวโรบลาสโตมาเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สามารถเกิดบริเวณใดก็ได้ที่มีเนื้อเยื่อระบบประสาทซิมพาเธติก (sympathetic nervous system) ซึ่งมีรายงานการพบมากสุดที่บริเวณต่อมหมวกไต ปมประสาทช่องท้องและช่องอก ส่วนที่พบในประเทศไทยส่วนมากมักแสดงอาการ หรือได้รับการวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง
“งานวิจัยเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งที่ทำมี 2 อย่างคือ 1)การตัดต่อยีนเม็ดเลือดขาวเพื่อมุ่งไปทำลายเซลล์มะเร็งอย่างเฉพาะเจาะจง และ 2)การสร้างแอนตีบอดี้ชนิดพิเศษเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะสามารถรักษามะเร็งได้ทุกประเภท อยู่ที่เราดีไซน์ โดยการวิจัยอย่างแรก ทำมาได้ประมาณ 2 ปี มีการทดสอบในหนูแล้วสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ส่วนการทดสอบในคนนั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 1-2 ปี สำหรับการวิจัยที่2 เพิ่งเริ่มต้น คาดว่าจะเห็นผลได้ภายใน 4-5 ปี”
ผลการวิจัยเบื้องต้น จะมุ่งใช้รักษาโรคมะเร็งกับคนไทยก่อน โดยใช้รักษาโรคมะเร็งในเด็ก 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งต่อมหมวกไตและมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งโดยทั่วไปอัตราการเกิดมะเร็งในเด็กอยู่ที่ประมาณ 1,500 คนต่อปี” ศ.นพ.สุรเดชกล่าว
ทั้งนี้การดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยทุนแกนนำ จะเป็นการทำงานร่วมกันของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งภายในและนอกประเทศในการศึกษามุ่งเป้าเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ความรู้ทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยาซึ่งเป็นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วย และเป็นการพัฒนาบุคลากรของประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการรักษา ตลอดจนความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอดเพื่อรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงมาตรฐานการรักษาที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดในภูมิภาคอาเซียน ทำให้รองรับผู้ป่วยจากนานาประเทศในแถบภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวมอีกด้วย
สำหรับผู้ที่ได้รับทุนอีกท่านหนึ่งคือ ศ.ดร. แชบเบียร์ กีวาลา บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากโครงการวิจัย เรื่อง “เครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการค้า และการผลิตอาหารและพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ และมีผลงานซึ่งได้รับการยอมรับในด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร โครงการที่ได้รับทุนนี้ คณะผู้วิจัยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านอาหารและพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน โดยใช้หลักการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนการผลิตการค้า และการส่งออกของภาคอุตสาหกรรม โดยการสร้างเครือข่ายวิจัยที่บูรณาการความเชี่ยวชาญของนักวิจัย ในหลากหลายสาขาวิชา รวมถึงผลักดันผลการวิจัยไปสู่นโยบายภาครัฐ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานทดแทนได้อย่างแท้จริง
ศ.ดร.แชบเบียร์ กีวาลา หัวหน้ากลุ่มวิจัยการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิต บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการการพัฒนาเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยการวิจัยและพัฒนาเชิงนวัตกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ นับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคตอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในเชิงมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและมาตรฐานการผลิต ที่ต้องมุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย รวมถึงให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายวิจัยนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการ ของนักวิจัยจำนวน 10 คน จาก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เกษตรศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ม.พะเยา และ ม.มหาสารคาม มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านอาหารและพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน และการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย โดยใช้หลักการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตที่พิจารณากิจกรรมการผลิตวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสีย ตลอดจนการขนส่งที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน โดยมุ่งเป้าศึกษาผลิตภัณฑ์พืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ไปจนถึงการแปรรูปเป็นอาหาร อาหารสัตว์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
“ผลงานการศึกษาที่ทำ เป็นการประเมินความยั่งยืนเพื่อตลอดวัฎจักรการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอ้อย น้ำตาลและพืชพลังงาน เป็นการศึกษาทุกขั้นตอนของการผลิตว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร ซึ่งได้ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเชิงตัวเลข ที่ช่วยพิสูจน์หรือตอบโจทย์ข้อสงสัยในปัจจุบันได้ เช่น การตอบโจทย์ที่ว่า การผลิตเอทานอล ที่ได้จากกากน้ำตาลและนำมาผสมกับเบนซิน เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนส่วนหนึ่งนั้น ไม่ได้ใช้พลังงานมากในการผลิต ไม่ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า เพราะในการผลิตเอทานอลมีการปลูกอ้อยหมุนเวียน ทดแทนตลอด ซึ่งต้นอ้อยจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกทางหนึ่ง ในขณะที่การใช้เบนซิน มีการปล่อยก๊าซอย่างเดียว” ศ.ดร.กีวาลา กล่าว
ทั้งนี้ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ (1) นวัตกรรมหรือเครื่องมือเพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายสำหรับการผลิตอาหารและพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนของภาครัฐ (2) การวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการค้าและการผลิตอย่างเป็นรูปธรรมกับผู้ประกอบการ (3) มาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มผลผลิต และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(4) ข้อเสนอแนะรูปแบบการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนานักวิจัยรุ่นกลางและรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถเป็นแกนนำในการขยายงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์นโยบายเกษตร อาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งมีผลงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ซึ่งเครื่องมือและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่ได้จากโครงการนั้น มีความสำคัญต่อการสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทยในระยะยาว เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนผ่านการจ้างงาน เพิ่มรายได้ และสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งสร้างการยอมรับจากสากลถึงมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยยังเป็นผู้นำของโลกและสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ตามเป้าหมายด้าน “มั่นคง”ทางทรัพยากร ธรรมชาติ อาหาร และพลังงาน “มั่งคั่ง” ทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และ “ยั่งยืน” ทางสิ่งแวดล้อมและสังคม
“ผลการวิจัยทำให้ได้แนวทางสู่การผลิตพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคม รายได้เพราะเกิดการจ้างงาน รวมถึงในภาคเกษตรอื่น ๆ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจตามมา”