ธพว.เร่งเยียวยาผู้ประกอบการใต้
ลูกค้ากู้ได้5แสน-พักชำระหนี้6ด.
ธพว. หรือ SME Development Bank ออกมาตรการเยียวยาเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จัดช่วยเหลือเร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการ SME ลูกค้าธนาคาร ใน 12 จังหวัดพักชำระหนี้ 6 เดือน แจ้งได้ที่สาขาธนาคารใกล้บ้าน และปล่อยกู้ฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace period) ไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน MLR ตลอดอายุสัญญา เพื่อการปรับปรุง ฟื้นฟู ซ่อมแซม และเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการให้ดำเนินต่อไปได้
นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ผู้บริหารธนาคารร่วมลงพื้นที่กับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อออกสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติภาคใต้ทั้ง 12 จังหวัด โดยทีมงานสาขาทุกจังหวัดจะร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค เพื่อเตรียมจัดทำโครงการฟื้นฟูซ่อมแซม ทำความสะอาดสถานประกอบการในพื้นที่ เพื่อให้ธุรกิจเร่งกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ
ส่วนมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการ SME ลูกค้าธนาคารนั้น ธพว. ได้ออก 2 มาตรการเพื่อเยียวยา คือ 1) มาตรการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยลูกค้าสามารถแจ้งเจตจำนงค์ได้ที่สาขาธนาคารใกล้บ้าน 2) มาตรการการให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace period) ไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน MLR ตลอดอายุสัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว ลูกค้าสามารถนำวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินนี้เป็นเงินทุนเพื่อการปรับปรุง ฟื้นฟู ซ่อมแซม และเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ ให้กิจการมีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ธนาคารได้ออกประกาศช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ลูกค้าเดิมของธนาคารใน 12 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดพัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ ระนอง และประจวบคีรีขันธ์
“นอกจากนี้ ธนาคารยังมอบหมายให้ผู้บริหารในพื้นที่ และทีมงานสาขาร่วมสำรวจความเสียหายของธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยล่าสุดยังได้หารือกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะลงพื้นที่สำรวจร่วมกันในวันเสาร์ที่ 14 มกรานี้ และจะสรุปผลพร้อมหามาตรการให้ความช่วยเหลือต่อไป
ในเบื้องต้นหากพบว่าธุรกิจที่มีความเสียหายไม่มากจะสามารถเข้าฟื้นฟูกิจการผ่านวงเงินสินเชื่อธนาคารได้หลายโครงการ ผมตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาคใต้เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ SME ของจังหวัด และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูโดยเร็ว”
ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวอีกว่า ธนาคารได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภาคใต้ ณ สำนักงานใหญ่ SME Bank Tower รับบริจาคของกินของใช้ที่จำเป็น โดยขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ลูกค้าธนาคาร และหน่วยงานพันธมิตร ตลอดจนพนักงานร่วมกันบริจาค สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center 1357 และหลังจากนี้อีก 10 วัน ธนาคารจะจัดคาราวานลงพื้นที่บริจาคสิ่งของในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ธนาคารได้มอบข้าวสารจำนวน 1,000 ถุง ผ่านกองทัพเรือ และได้บริจาคสิ่งของที่จำเป็นผ่านหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อนำแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอันเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อนไปแล้ว