คลังรวมพลังประชารัฐลุยSMEs
ตั้งกองทุนอัดฉีดเกิด-โตในจังหวัด
ดร.สมคิดนำทีมกระทรวงคลัง อุตสาหกรรม สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชนและบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ประชุมแนวทางบูรณาการพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ โดยรวมพลังขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มรูปแบบและเป็นระบบ มุ่งเน้นให้ความสำคัญในกลุ่มจังหวัดที่จะต้องปรับองคาพยพที่เกี่ยวข้องสร้างศูนย์กลางของตนเองในจังหวัดรองรับพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมตั้งกองทุน 2หมื่นล้านอัดฉีดมีกระทรวงอุตฯดูแล คาดตั้งใน 2 เดือน ด้านSME Development Bank ตั้ง2หมื่นล้านร่วมช่วยอีกทาง
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีผนึกหน่วยงานภาครัฐรวมกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันการเงินรัฐ เพื่อขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มรูปแบบและเป็นระบบ โดยเน้นให้ความสำคัญในกลุ่มจังหวัดที่จะต้องปรับองคาพยพที่เกี่ยวข้องสร้างศูนย์กลางของตนเองในจังหวัดรองรับ ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัด
ดร.สมคิดกล่าวว่า รัฐบาลได้เริ่มขับเคลื่อนงบประมาณไปสู่จังหวัดแล้วและเวลานี้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งกองทุนมูลค่า20,000 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีความพร้อมจากการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของหน่วยงานต่าง ๆที่พร้อมสนับสนุนและด้วยงบประมาณ เพื่อทำให้ไทยเดินสู่เป้าหมายเป็นเศรษฐกิจบนฐานผู้ประกอบการ ด้วยการทำให้มีเอสเอ็มอีเกิดขึ้นเต็มพื้นที่ในทุกกลุ่มจังหวัด
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายภารกิจปรับกระบวนการและโครงสร้างกระทรวงครั้งใหญ่เพื่อให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญได้ ได้แก่ การดูแลเอสเอ็มอี โดยการขับเคลื่อนกลุ่ม S-Curve และเรื่อง AEC แต่เอสเอ็มอีเป็นเรื่องสำคัญและทำงานแบบสอดรับกับการพัฒนาการเติบโตในพื้นที่ หรือ Local Economy ที่รัฐบาลได้ประกาศไป ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดซึ่งจะปรับการทำงานร่วมกับองคาพยพประชารัฐในจังหวัดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมระดับเอสเอ็มอีในพื้นที่ในชุมชน และมีการดูแลต่อเนื่อง โดยนำความรู้ทักษะ มีผู้เชี่ยวชาญชี้แนะ พัฒนา
นอกจากนี้ยังต้องมีงบประมาณสนับสนุนด้วย ซึ่งส่วนแรกได้แก่ “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในท้องถิ่น เป็นมูลค่า 20,000 ล้านบาท โดยมาจากงบประมาณกลางประจำปีงบประมาณ 2560 ของสำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล คาดจะสามารถจัดตั้งได้ภายใน 2 เดือน
ขณะเดียวกันเม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งจะมาจากสินเชื่อหรืองบประมาณของธนาคารต่าง ๆ มาช่วยซึ่งมีการหารือกันบ้างแล้ว เช่น ธนาคารออมสิน กรุงไทย เอสเอ็มอี แบงก์และธนาคารเอกชน
ทั้งนี้เป้าหมายช่วยเหลือ 3 กลุ่มหลัก 1) กลุ่มที่จะเริ่มทำธุรกิจ มีแนวคิดจะทำหรือเพิ่งเริ่มธุรกิจ 2)กลุ่มที่ต้องการยกระดับตัวเอง เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เช่น ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ซอฟต์แวร์ และ3)กลุ่มที่มีศักยภาพแต่มีปัญหา ซึ่งหากปล่อยไปจะเป็นภาระธนาคาร กระทบผู้ประกอบการเองและจะกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
ดร.อุตตมะกล่าวอีกว่า กองทุนทำหน้าที่หลายอย่าง อาทิ ปล่อยกู้เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มีคณะกรรมการในพื้นที่กลั่นกรองเอสเอ็มอี พร้อมดูแลให้ทักษะความรู้ สนับสนุนคนรุ่นใหม่ คนในพื้นที่ที่กลับไปทำธุรกิจในบ้านเกิด
ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า ในส่วนของธนาคารฯได้เตรียมงบประมาณ 20,000 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีดังนี้คือ งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยประสบภัยน้ำท่วม โดยปล่อยกู้เป็นซอฟต์โลน รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท แต่คิดว่าปล่อยจริง ๆ ประมาณรายละ 2-3 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังจัดงบประมาณอีก 15,000 ล้านบาทช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ หลักการเดียวกันกับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ซึ่งเป็นความพยายามใช้กลไกเดิมที่มีอยู่ แต่กลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน โดยพยายามสร้างสังคมผู้ประกอบการ ใช้กลไกประชารัฐคัดกรองดึงคนหนุ่มสาวกลับคืนถิ่น และแต่ละจังหวัดในปัจจุบันมีความพร้อมสูงมากในการทำยุทธศาสตร์ จะให้ไปสืบทอดผู้ประกอบการด้านภาคผลิต การบริการ หรืออุตสาหกรรมครัวเรือนแบบเบา ซึ่งคนรุ่นใหม่ทำได้หมด เพราะคนรุ่นใหม่มีนวัตกรรม มีความสามารถในการแข่งขันหน่วยงานรัฐจึงได้นำความรู้ของเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ เทคโนโลยีใหม่และการเงินมารวมกัน เพื่อให้คนเวลาทำธุรกิจการเงินพร้อม ตัวช่วยพร้อม ช่วยให้เค้าทำธุรกิจอยู่รอดได้
นายมงคลคาดว่า งบประมาณ 20,000 ล้านบาทจะช่วยผู้ประกอบการได้จำนวนมาก หลังจากในปีที่ผ่านมาช่วยเหลือได้นับ 10,000 ราย แต่ทางธนาคารมีวิธีหรือเครื่องมือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายโดยการจดทะเบียนนิติบุคคลหรือทำบัญชีเดียว ลูกค้ารายเล็ก รายน้อย แม้ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารจะให้กู้แบบซอฟต์โลน เข้าระบบจดนิติบุคคลแล้วให้สินเชื่อได้เลย
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคใต้คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจำนวนมาก เฉพาะลูกค้าธนาคารมีประมาณ 8,000 ราย รวมมูลค่าสินเชื่อประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือรายละมากกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้จากการสำรวจเชื่อว่า รายได้จะกระทบต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน ซบเซา จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วย โดยเบื้องต้นให้พักเงินต้น ส่วนดอกเบี้ยดูตามสภาวะควมเสียหายของแต่ละคน ถ้ายังค้าขายดีให้ผ่อนดอกเบี้ย ถ้าค้าขายแย่หน่อยให้จ่ายดอกเบี้ยครึ่งหนึ่ง
“ถ้าฉุกเฉินให้กู้ 5 แสน ดอกเบี้ย 4.99% ปีแรกจ่ายแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียว ที่เหลือ 4 ปีให้ผ่อน 500,000 บาท ผ่อนเดือนละประมาณ 7,000 บาท ธุรกิจค้าขายก็จะน่าไปได้ ลูกค้าเดิมที่มีอยู่เชื่อว่าจะไปได้ แต่ธุรกิจที่เป็นค้าขายรายเล็กรายน้อยไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารมมาก่อนจะธนาคารจะให้สินเชื่อซอฟต์โลน เช่น ท่องเที่ยว ซึ่งตามกฎหมายใหม่จะต้องมีใบอนุญาต ถ้าเข้าระบบจดทะเบียนแล้วจะให้สินเชื่อได้ทันที ต้นทุนถูกกว่าคนที่อยู่นอกระบบ โดยจะดำเนินการที่แรกในพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี”