ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นำคณะผู้บริหาร และเครือข่าย ประชุมหารือการสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พร้อมเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยี ณ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 25 – 28 มกราคม 2560 เพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานและพัฒนาความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผลักดันการสร้างพื้นที่นวัตกรรม (Area of Innovation) หนุนอุตสาหกรรม 4.0 และนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากการที่ได้ประชุมหารือเพื่อศึกษาแนวทางและสร้างความร่วมมือด้าน วทน. กับประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อประเทศไทยจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยเน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ต่อยอดภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา และสังคม เพื่อพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งการประชุมความร่วมมือไทย-เยอรมนี เป็นแนวทางในการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation: EECi) กลไกสำคัญในการยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในพื้นที่ โดยมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย วทน. ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
การประชุมความร่วมมือและเยี่ยมชมประกอบด้วย 1.สถาบันฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer-Gesellschaft) เป็นองค์กรวิจัยเชิงประยุกต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป การวิจัยมุ่งตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในด้านสุขภาพ ความปลอดภัย การสื่อสาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีสถาบันย่อยและศูนย์วิจัย 67 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีบุคลากรมากกว่า 24,000 คน มีความเป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์การผลิต ดำเนินการวิจัยและพัฒนา ตลอดกระบวนการของอุตสาหกรรม จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การบำรุงรักษาสินค้า การลงทุน และการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ เพื่อการออกแบบและการจัดการของบริษัทผู้ผลิต
บทบาทของสถาบันฟรอนโฮเฟอร์ ไอพีเค (Fraunhofer Institute of Production Systems and Design Technology) คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โดยนำเสนอแอปพลิเคชั่นที่เน้นการช่วยแก้ไขปัญหาที่พบทั้งระบบในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังอุตสาหกรรมอื่นภายนอกโรงงาน สถาบันฯ เน้นการจดสิทธิบัตรจำนวนมาก การเขียนบทความวิชาการในเชิงงานวิจัยพื้นฐานมีจำนวนน้อยมาก
ศ. ดร. อิง โฮลเจอร์ โคล ผู้อำนวยการส่วนบริหารองค์การของสถาบันฯ ได้นำเสนอเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 โดยเริ่มที่นิยามตั้งแต่อุตสาหกรรม 1.0 เป็นการผลิตด้วยพลังไอน้ำ อุตสาหกรรม 2.0 เป็นการผลิตด้วยไฟฟ้าและแรงงานมนุษย์ อุตสาหกรรม 3.0 เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์มาใช้การกระบวนการผลิตให้เป็นอัตโนมัติ ส่วนอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการรวมโลกแห่งความจริงกับโลกเสมือนเข้าไว้ด้วยกัน (Cyber-Physical System) เป็นการสร้างอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง อินเทอร์เน็ตของข้อมูล และอินเทอร์เน็ตของบริการ ในการปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรม 3.0 ไปเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทางสถาบันฯ ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยกำหนดกระบวนการและแผนที่นำทางของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมว่าควรจะปรับเปลี่ยนอะไรและเมื่อใด ทั้งนี้ประเทศไทยเราต้องกำหนดจุดยืนของประเทศที่ชัดเจนว่าจะเน้นการผลิตแบบปริมาณมาก หรือจะเน้นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล
2.ศูนย์ความสามารถดาร์มสตัดท์ (Darmstadt Competence Centre) ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีดาร์มสตัดท์ มีความเชี่ยวชาญ 4 ด้าน ได้แก่ วิศวกรรมเครื่องกล ยานยนต์ อุตสาหกรรมอวกาศ และเทคโนโลยีทันตกรรม เป็นหนึ่งในสิบศูนย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย SMEs 4.0 (Mittelstand 4.0) ของประเทศ ได้รับทุนสนับสนุน (Funding Initiative) จากกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของรัฐบาลกลางเยอรมนี ที่นี่เป็นศูนย์อบรมภาคปฏิบัติให้กับบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศเยอรมัน มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน 15 คอร์ส การสอนทฤษฎีจะใช้เวลาไม่มาก เน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ฝึกงานกับสถานการณ์จริง เครื่องมือจริง มีการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อติดตามการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมตามจุดต่าง ๆ มีการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และนำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด มีคู่มือการประกอบชิ้นส่วนแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อตามความต้องการของลูกค้า อาจจะมีเป็นพันวิธีการประกอบ ด้วยอุตสาหกรรมแบบ 4.0 พนักงานสามารถนำชิ้นส่วนสแกนและดึงวิดีทัศน์ที่แสดงถึงขั้นตอนการประกอบของชิ้นส่วนนั้น ๆ จากฐานข้อมูลขึ้นมาและทำตามที่ละขั้นตอน แทนขั้นตอนเดิมที่ต้องเปิดคู่มือเล่มหนาเพื่อหาวิธีการประกอบชิ้นส่วนหนึ่งๆ
นอกจากนี้ยังได้เข้าเยี่ยมชมงาน 3. International Green Week (IGW) เป็นงานที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ กรุงเบอร์ลิน งานแสดงสินค้าที่ใหญ่ทางด้านผลิตภัณฑ์อาหาร เกษตรอินทรีย์ และพืชสวนระดับนานาชาติ เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนนวัตกรรม ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ของแต่ละประเทศ และเยี่ยมชมบูทของประเทศไทย ที่จัดคูหา 2 ส่วนได้แก่ (1) ส่วนแสดงนวัตกรรมด้านการเกษตร (Innovative Agriculture) ภายใต้หัวข้อ “Thailand: Green Village for Sustainable Economy” (ประเทศไทย: หมู่บ้านสีเขียวสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน) เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศด้านการเกษตรยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทย
สำหรับประโยชน์จากการเข้าร่วมจัดการแสดงสินค้าของไทยในครั้งนี้ จะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจของมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยทางอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าเกษตรของไทย ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ (2) ส่วนศาลาไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย และเสริมสร้างภาพลักษณ์ “สินค้าไทยสู่ตลาดโลก” โดยจะมีสินค้าทางการเกษตรที่มีมาตรฐานและคุณภาพของไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวง (โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร้านภูฟ้า) ข้าวหอมมะลิ และ สินค้าโอท็อป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ทั้งในส่วนของการร่วมวิจัย พัฒนา และการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ซึ่งมีเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food Feed Innovation Center) ที่เป็น one-stop service ส่งเสริมให้ SMEs ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ดร.อรรชกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมว่า การผลักดันสตาร์ทอัพในประเทศเยอรมันโดยสถาบันฟรอนโฮเฟอร์ ไอพีเค เริ่มจากระยะเตรียมเมล็ดพันธุ์ (Pre-Seed) จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แล้วตามมาด้วยระยะฟูมฟักบริษัทสตาร์ทอัพให้มีความแข็งแรงขึ้นในระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 5-8 ปี หลังจากนั้นจะเป็นระยะขยายความสามารถ ทั้งนี้หากเป็นบริษัทด้านไอทีจะใช้เวลาสั้นกว่าที่กล่าวมาเนื่องจากเทคโนโลยีด้านนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก
สำหรับงานวิจัยในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากนี้ไปจะเร่งทำงานเน้นงานวิจัยเชิงประยุกต์ เน้นการสร้างสิทธิบัตรมากกว่าการเขียนบทความวิชาการ และกระทรวงวิทย์ฯ จะเปิดรับการหารือพร้อมให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการเพื่อให้การใช้ วทน. เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืนและนำพาประเทศเราก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0