ก.วิทย์ ITAP-สวทช.ร่วมธ.ก.ส.
นำวทน.ยกระดับสินค้าเกษตร
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดเสวนา การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมประยุกต์ใช้วิทย์-เทคโนฯ-นวัตกรรม (วทน.) พร้อมดันงานวิจัยสวทช. ช่วยตอบโจทย์ ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 ราย
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านเกษตรกรรมที่สามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ทำเกษตรแบบดั้งเดิม ยังไม่มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วย (วทน.)ในการควบคุมคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบ
การยกระดับสู่การเกษตรอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี (SMEs)ยังไม่มีความพร้อม เช่น การขาดแคลนแรงงานระดับล่าง รวมถึงองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ต้นทุนการผลิตมีมูลค่าสูง แต่มูลค่าสินค้าเกษตรต่อหน่วยอยู่ในระดับที่ต่ำ
ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการยกระดับสินค้าด้วย วทน. โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร จึงจัดสัมมนา “การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้ทราบว่า องค์ความรู้ด้านวทน.สามารถมาช่วยตอบโจทย์ด้านเกษตรอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ยังได้เข้าใจ และเข้าถึงแนวทางการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้าน วทน. ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง โดย ITAP นำผลงานวิจัยบางส่วนมาให้ชม
“ITAP มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่มาช่วยด้านเกษตรเช่น โรงเรือนแบบปิด การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อการจัดการเกษตร เซนเซอร์ที่จะช่วยเก็บข้อมูลความชื้นในอากาศ ความเป็นกรด ด่างในดิน พยากรณ์อากาศ ทำให้เกษตรกรสามารถเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและพื้นที่ได้ มีเทคโนโลยี UAV & Robot จักรกลอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์พ่นยา โรงเรือนปลูกอัจฉริยะ Smart Green House การใช้ไวรัสปราบศัตรูพืชและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) เป็นต้น”
ทั้งนี้คาดหวังว่าผู้ประกอบการจะเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ในเบื้องต้นITAP สวทช. มีกลไกพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นจะเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้าเยี่ยมผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนและวินิจฉัยปัญหา และจะเข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายของ ITAP- สวทช. เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบรรลุเป้าหมาย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
“ทาง ITAP มีผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี(ITA) จำนวนประมาณ 90 คน ประจำอยู่เครือข่ายของ ITAP ที่มีอยู่ 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ปัญหาและดูแลด้านการบริหารจัดการแก่เกษตรกรถึงที่ โดยในปี 2559 ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการไปประมาณ 1,000 ราย เพิ่มขึ้นจาก 400 ราย ส่วนปี 2560 นี้ตั้งเป้าช่วยเหลือ 1,500 ราย และนับจากตั้งมาในปี 2536 ITAP ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการไปแล้วไม่น้อยกว่า 6,000 ราย
ส่วนความร่วมมือกับธ.ก.ส.จะช่วยผลักดันเกษตรกรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ผู้ประกอบที่สนใจจะพัฒนานำวทน.มาใช้ อยากได้คำแนะนำให้มา ITAPได้ หรือจะให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของ ITAP ไปดูได้ถึงที่ เวลานี้ยังมีสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ขึ้นมาช่วยดูแลด้วยอีกทางหนึ่ง สำหรับการช่วยเหลือมีทั้งการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การทำให้ได้มาตรฐานและเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ดีขึ้น”
ทั้งนี้ดร.นันทิยาได้ยกตัวอย่างผู้ประกอบการที่เคยมาขอการสนับสนุน ITAPและประสบความสำเร็จไปแล้ว อาทิ แดรีโฮม โดรนพ่นยา ดับเบิลA และสมาร์ทฟาร์ม เป็นต้น
ด้านนายชวลินทร์ สายหล้า ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเกษตรกรอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม Agro – Industry 4.0 นั้น ธ.ก.ส. มีแผนในการสนับสนุน SME เกษตรที่เข้าร่วม “โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร” ที่นอกเหนือจากการให้สินเชื่อ เช่น การให้ความรู้ที่จำเป็นและการเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสว. และ สวทช. รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เช่น เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรรายคน ที่ทำการผลิตเกษตรต้นน้ำ ให้เป็นเกษตรกรทันสมัย (Smart Farmer) มีกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อรอบการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเป็นผู้ประกอบการ และพัฒนาต่อยอดผลผลิตขั้นพื้นฐานให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งต่อคุณค่าสู่ผู้บริโภค
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ตั้งสถาบันบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการ SMAEs เพื่อทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานสถาบันต่างๆ ในการช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ การวิจัย นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งด้านการแปรรูปด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับเทคโนโลยีพื้นฐาน จนถึงเทคโนโลยีขั้นสูง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การรองรับมาตรฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการภาคเกษตรกร สามารถยกระดับเป็นที่ยอมรับของตลาด สามารถทดแทนการนำเข้าและสามารถส่งออกไปต่างประเทศ
“ธ.ก.ส.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลเพื่ออำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกรมา 50 ปี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเก่งทางด้านวทน. จึงมาร่วมมือกันโดยมีเกษตรกรเป็นตัวตั้ง โดยตั้งเป้าส่งเสริมเกษตรกรที่นอกจากเป็นผู้ผลิตแล้ว ยังเป็นผู้แปรรูปไปจำหน่ายได้ด้วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ธ.ก.ส.มีการปรับบริการให้ทันสมัยขึ้น รวมพัฒนาโมบายโฟนแบงกิ้งที่คาดว่าจะได้ใช้ภายใน 3 เดือน”
ดังนั้น ธ.ก.ส. และ สวทช. จึงจัดสัมมนาเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการการเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรม (SMAEs) สามารถก้าวไปสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม 4.0 (Agro – Industry 4.0) ได้เร็วขึ้นตามนโยบายรัฐบาล คาดหวังว่า การสัมมนานี้จะช่วยเติมองค์ความรู้ และจุดประกายความคิดการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ให้สามารถยกระดับสู่สากลและเป็นเกษตร 4.0 ในอนาคตอันใกล้นี้