เปิดแผนปี60องค์การสวนสัตว์ฯ
ชูสวนสัตว์มาตรฐานโลก-กรีนซู
องค์การสวนสัตว์เปิดแผนปี 60 มุ่งพัฒนาสวนสัตว์ทุกแห่งให้ได้มาตรฐานสมัยใหม่ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียนและระดับโลก พร้อมพัฒนาสวนสัตว์เชิงอนุรักษ์ หรือกรีนซู โดยเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำให้สวนสัตว์เป็นมากกว่ามาเที่ยวชมสัตว์ หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าชม โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนที่เป็นตลาดใหญ่และยังเป็นการเตรียมพร้อม ไทยเจ้าภาพการประชุมสวนสัตว์โลกในปีหน้า นอกจากนี้องค์การสวนสัตว์ยังร่วมกับมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ จัดงาน “เขาดินเที่ยวได้มากกว่าเที่ยว” ที่พร้อมเปิดบ้านต้อนรับทุกภาคส่วน
ภาพจากwww.dekguide.com
นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงแผนงานการยกระดับสวนสัตว์สู่ระดับสากล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ว่า มีการดำเนินการสู่มาตรฐานสวนสัตว์สมัยใหม่ ให้กับสวนสัตว์ทุกแห่งขององค์การสวนสัตว์เพื่อยกระดับการดำเนินงานกิจการสวนสัตว์ที่ดี ในมิติของการพัฒนาสวนสัตว์เทียบเท่ากับสวนสัตว์ที่ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียนและในระดับโลก โดยการพัฒนาภายใน 5 ปี มีแผนทำให้สวนสัตว์เป็นมากกว่าสวนสัตว์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้มาเยี่ยมชมเพิ่มขึ้นและมาแล้วได้อะไรมากกว่าการมาชมสัตว์ นอกจากนี้ในปีหน้า 2561 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมองค์การสวนสัตว์โลกด้วย ซึ่งจะมีสวนสัตว์ประมาณ 300-400 แห่งทั่วโลกมาร่วมประชุม
ในขณะนี้องค์การสวนสัตว์ มีสวนสัตว์อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ 8 แห่งคือ 1.สวนสัตว์ดุสิต 2.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว 3.สวนสัตว์เชียงใหม่ 4.สวนสัตว์นครราชสีมา 5.สวนสัตว์สงขลา 6.สวนสัตว์อุบลราชธานี 7.สวนสัตว์ขอนแก่น และ8.โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์
ทั้งนี้การดำเนินงานพัฒนาสวนสัตว์ ได้ใช้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นต้นแบบ ซึ่งดำเนินการใน 5 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การรักษารูปแบบมาตรฐานการจัดการสัตว์ป่าภายใต้มาตรฐาน World Association of Zoos and Aquariums (WAZA) และการอนุรักษ์ วิจัย และเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่า มิติที่ 2 การรักษาระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2008 มิติที่ 3 การให้การศึกษาภายในสวนสัตว์ มิติที่ 4 การพัฒนาสวนสัตว์ต้นแบบเชิงอนุรักษ์ (Green Zoo) และมิติที่ 5 การพัฒนาศักยภาพการบริการนักท่องเที่ยวด้วยรูปแบบการจัดแสดงใหม่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก
มิติที่ 1 การรักษารูปแบบมาตรฐานการจัดการสัตว์ป่าภายใต้มาตรฐาน WAZA โดยมุ่งเน้นที่ สวัสดิภาพสัตว์ การส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ในกรงเลี้ยงและการอนุรักษ์ วิจัย และขยายพันธุ์สัตว์ป่าสำคัญ การพัฒนา การยกระดับสวนสัตว์เข้าสู่มาตรฐานสากลจะต้องมีการบริหารจัดการสวนสัตว์ ทั้งในเรื่องการดูแลเลี้ยงสัตว์ป่าที่มุ่งเน้นมนุษยธรรม สวัสดิภาพ คุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์ป่า และการส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานสมาคมสวนสัตว์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAZA) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับWAZA ที่เป็นสมาชิกอยู่
ซึ่งการดำเนินการจัดการ สัตว์ป่าภายใต้มาตรฐาน WAZA ของสวนสัตว์ได้มุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมสวัสดิภาพ การคุณภาพชีวิตสัตว์ที่ดี (Animal Welfare and Ethics) และการส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ (Enrichment) อย่างต่อเนื่องรวมถึงการผลิตผลงานวิจัยและการอนุรักษ์เพื่อการขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อยกระดับสวนสัตว์เข้าสู่มาตรฐานสากล และรักษามาตรฐาน WAZA อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดำเนินงานด้านการจัดการสัตว์ป่าภายใต้มาตรฐาน เพื่อให้สวนสัตว์เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริง สามารถตอบสนองความต้องการและคืนความสุขให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ในรูปแบบการบริการด้านต่าง ๆเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตสัตว์และการจัดการประชากรสัตว์เพื่อสร้างความหลากหลายและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีนอกเขตป่าธรรมชาติตามมาตรฐานสากล
รวมทั้งการจัดการงานอนุรักษ์ สัตว์ป่าให้มีจำนวนเพียงพอต่อการศึกษาและส่งคืนสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติ พัฒนางานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตสัตว์ป่าและการบริหารจัดการสัตว์ป่านอกถิ่นอาศัยให้มีจำนวนเพียงพอต่อการศึกษาและส่งคืนสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติ พัฒนางานด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและเตรียมความพร้อมในการส่งสัตว์ป่าคืนสู่ป่าธรรมชาติ กระบวนการการดำเนินการและการประเมินผล
มิติที่ 2 การรักษาระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2008 มุ่งเน้นที่ การบริหารจัดการเพื่อการให้บริการ และพัฒนาให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO 14001-2004 ให้สวนสัตว์เป็นสถานที่ในการให้ความรู้ ด้านการอนุรักษ์ วิจัย และจัดแสดงสัตว์ป่า ตลอดจนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อสร้างความพึงพอใจกับลูกค้า โดยบริการประชาชนให้ได้มาตรฐานสากล ตามระบบบริหารงานคุณภาพ สวนสัตว์จึงได้ดำเนินการจัดทำระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 และพัฒนาให้เข้าสู่ระบบ ISO 14001 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานคุณภาพของสวนสัตว์
มิติที่ 3 การให้บริการเชิงการศึกษา เพื่อให้สวนสัตว์เป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมให้ได้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต สวนสัตว์ได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้นแบบจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำหนดมาตรฐานการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่จะสร้างสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้น ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเป็นมาตรฐานต้นแบบที่ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมให้ความรู้แก่นักเรียน โดยจัดเป็นโรงเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ให้เป็นสวัสดิการสังคมด้านการศึกษา เพื่อปูพื้นฐานทางสังคมให้มีคุณภาพ พัฒนาตนเอง และสังคมในอนาคตควบคู่ไปกับการพักผ่อนหย่อนใจ โดยจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพิ่มขึ้นเช่น การจัดทำคู่มือครู กิจกรรมการเรียนรู้ภาคสนามของนักเรียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการ
มิติที่ 4 การจัดการสวนสัตว์โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง มุ่งเน้นพัฒนาองค์กรสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Growth)
องค์การสวนสัตว์ให้ความสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย มาตรการ กลไก ด้านการพัฒนาสวนสัตว์เชิงอนุรักษ์ หรือ (Green Zoo ) ให้เป็นไปตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างการพัฒนาให้สมดุลทั้ง 3 มิติ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ มีการกระจายการพัฒนา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สมดุล มั่นคง โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อให้เกิดความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเช่นกัน ซึ่งมีส่วนให้องค์การ สวนสัตว์ต้องผลักดันทิศทางการพัฒนาสวนสัตว์เชิงอนุรักษ์เป็นแนวคิดนโยบายและแผนงานที่มุ่งหวังให้องค์การสวนสัตว์เป็นผู้นำในด้านการอนุรักษ์ การจัดการสวนสัตว์โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง มุ่งเน้นพัฒนาองค์กรสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Growth)
มิติที่ 5 การพัฒนาสวนสัตว์โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ (Innovation) และสิ่งอำนวยความสะดวก (Universal Design) มาใช้ในด้านการบริการและสร้างความเป็นเลิศในการสร้างและบริหารงานบริการ การพัฒนาการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ (Innovation)และสิ่งอำนวยความสะดวก(Universal Design) มาใช้ในด้านการบริการและสร้างความเป็นเลิศในการสร้างและบริหารงานบริการที่มีคุณภาพ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำด้านการบริการที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับภารกิจหลักของหน่วยงานในการให้บริการประชาชน รวมทั้งต่อยอดการบริการของสวนสัตว์ให้มีความทันสมัย (Modern Zoo & Service Mind)
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ “เป็นสวนสัตว์สีเขียวที่มีมาตรฐานสากลและเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์วิจัยและเรียนรู้สัตว์ป่า ภายใต้การบริหารจัดการ การบริการที่เป็นเลิศ” โดยองค์การสวนสัตว์ ได้มีการดำเนินโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบทางด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทย ที่สามารถนำประชากรสัตว์ป่าที่เคยมีสถานภาพ สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติกลับคืนสู่ถิ่นอาศัยเดิมได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติภายในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและ อ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ ไปแล้ว จำนวน 70 ตัว
ปัจจุบัน ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทย กว่า 40 ตัว ยังคงมีชีวิตรอดและดำรงชีพอยู่ในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินงานของโครงการฯ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความร่วมมือของกลุ่มชุมชน และชาวนาที่ปลูกข้าวบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมกันทำการเกษตรระบบอินทรีย์ จากการต่อยอดความสำเร็จ ไปสู่กระบวนการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติ ตามแนวประชารัฐ
องค์การ สวนสัตว์ จึงได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนิน โครงการจัดซื้อข้าวช่วยชาวนา เพื่อประโยชน์แก่โครงการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนโยบายรัฐบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยและการจัดการพื้นที่อาศัยที่เหมาะสม ซึ่งเน้นในส่วนของการพัฒนางานทางด้านเกษตรอินทรีย์การสร้างความตระหนักและ ลดผลกระทบความขัดแย้ง โดยมีเป้าหมาย คือ ภายหลังสิ้นสุดโครงการฯ พื้นที่นาข้าวจำนวน 4 ตารางกิโลเมตร ในรัศมี 1 กิโลเมตร โดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ จะสามารถเปลี่ยนระบบมาผลิตข้าวอินทรีย์ และข้าวที่เป็นมิตร ต่อนกกระเรียนได้
สำหรับในปี2560ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ได้มีนโยบายซื้อข้าวจากกลุ่มชาวนา เพื่อนำมาเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งสอดรับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และช่วยบรรเทาปัญหาราคาข้าวตกต่ำและ เพิ่มช่องทางการขายข้าวให้กับชาวนาในทุกพื้นที่ เป็นข้าวแบรนด์ชื่อว่า “ข้าวสารัช” ข้าวหอมมะลิอินทรีย์บนแผ่นดินนกกระเรียน
ในโอกาสเดียวกันนี้ นายสุริยา แสงพงค์ รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ และนางสาวสาธิตา โสรัสสะ ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ ได้ร่วมจัดงาน “เขาดินเที่ยวได้มากกว่าเที่ยว” เพื่อเปิดบ้านต้อนรับทุกภาคส่วน พร้อมด้วย 8 สมาคมด้านท่องเที่ยวเข้าร่วม พร้อมผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และนำชมพื้นที่ไฮไลท์และกิจกรรมต่าง ๆ ภายในสวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดิน
ทั้งนี้เขาดินมีพื้นที่ 118 ไร่ มีสัตว์อยู่มากกว่า 200 ชนิด รวมประมาณ 1,300 ตัว แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมราว 3 ล้านคน และในปี 2560 นี้ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวเข้าชมที่ 7 ล้านคน โดยมีแผนดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนที่มาเที่ยวชมพระที่่นั่งอนันตสมาคมให้เข้ามาเยี่ยมชมเขาดินด้วย
สำหรับไฮไลท์สำคัญในเขาดิน อาทิ
อาคารเรือนกระจก ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงเหลี่ยมประดับด้วยไม้ฉลุโดยรอบชายคา เป็นศิลปะกึ่งยุโรป ติดกระจกรายรอบหลากสีงดงามสะดุดตา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเกียรติบัตร รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2545 ตามที่สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น และองค์กรดีเด่นด้านอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม
แสดงโชว์แมวน้ำ ซึ่งแสดงวันจันทร์-ศุกร์ 3 รอบต่อวัน เวลา 10:30 12:30 และ 15:00 นาฬิกา วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
4 รอบต่อวัน เวลา 10:30 12:30 13:40 และ 15:00 นาฬิกา
โซนการแสดง ที่หมุนเวียนไป ดังปัจจุบันเป็นโชว์กายกรรมจากเคนยา โชว์ทุกวัน 4 รอบต่อวัน
เก้งเผือกพระราชทาน เก้งเผือกเพศผู้ที่พบเพียงตัวเดียวในประเทศไทยและเป็นต้นกำเนิดลูกหลานเก้งเผือกในสวนสัตว์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเก้งชนิดนี้แต่ว่ามีภาวะผิวเผือกทำให้มีสีผิวและสีของดวงตาเป็นสีขาวล้วนบริสุทธิ์ ดูแลสวยงามแปลกตาไปจากธรรมดา ซึ่งเก้งเผือกตัวแรกนั้นถือว่าเป็นเก้งเผือกตัวแรกของโลกด้วย มีชื่อว่า “เพชร” เป็นเก้งเพศผู้ มีผู้พบเจอที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อปี พ.ศ. 2545 และต่อมได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานให้นำมาเลี้ยงไว้ยังสวนสัตว์ดุสิตและต่อมาเพชรก็ได้ผสมพันธุ์กับเก้งธรรมดาให้ลูกออกมา เป็นเก้งเผือกและมอบให้สวนสัตว์อีกหลายแห่ง (ปัจจุบัน “เพชร” เสียชีวิตแล้ว)
หลุมหลบภัย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่หลบภัยของประชาชนที่มาเที่ยวสวนสัตว์เขาดินวนา และประชาชนในบริเวณใกล้เคียงในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ) บินเข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมาเมื่อภายหลังสงครามสงบลง จึงมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่หลบภัยดังกล่าวโดยการสร้างภูเขาจำลองครอบทับ ใช้ประโยชน์เป็นกรงเลี้ยงเลียงผาเรื่อยมาก่อนที่ทางสวนสัตว์ดุสิต และองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะทำการปรับปรุง และพัฒนาที่หลบภัยรวมทั้งพื้นที่โดยรอบเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดแสดงสื่อ และนิทรรศการว่าด้วยเรื่องราวของสงครามมหาเอเชียบูรพา และหลุมหลบภัย เช่นในปัจจุบัน
ฮิปโปโปเตมัส “แม่มะลิ” ฮิปโปโปเตมัส อายุ 50 ปี ซึ่งถือว่าเป็นฮิปโปที่มีอายุยืนที่สุดในประเทศไทย และเป็นสัตว์อาวุโสดาวเด่นขวัญใจของเด็กๆ แม่มะลิ มีลูกมาแล้วถึง 14 ตัว ลูกๆของแม่มะลิ ถูกจัดส่งไปตามสวนสัตว์ขององค์การฯทั่วประเทศ โดยลูกตัวที่อายุมากที่สุด ชื่อ “ตอร์ปิโด” เพศผู้ อายุ 40 ปี ปัจจุบันอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ และตัวที่อายุน้อยที่สุดชื่อ “มะยม” เพศผู้ อายุ 12 ปี อยู่ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
ทั้งนี้ สวนสัตว์ดุสิต ได้รับแม่มะลิมาจากสวนสัตว์ทีลเบิร์ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2510 ตั้งแต่อายุได้ 1 ปี จนปัจจุบันแม่มะลิมีอายุครบ 50 ปีแล้ว
เนินเขาดิน เขาดินวนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๓๘หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศและพบว่าสวนพฤกษชาติเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง
โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระราม ๕) ด้วยการขุดสระน้ำใหญ่ ประกอบคูคลองระบายน้ำ และถนน แล้วนำดินขึ้นมาเป็นเนินเขาเกาะกลางน้ำเรียกว่า เขาดิน และรอบๆเขาดินนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกลงพรรณไม้นานาชนิด สร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติ สำหรับส่วนพระองค์ เรียกว่า วนา รวมอาณาเขตส่วนนี้ทรงโปรดเรียกว่า เขาดินวนา โดยในขั้นต้นพระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับ เป็นที่ประพาส ทรงพระเกษมสำราญส่วนพระองค์ และข้าราชบริภารฝ่ายในก่อน ดังนั้น สวนดุสิต หรือ เขาดินวนา จึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต
ลิงแสมทรงเลี้ยง (คุณสมศักดิ์ – คุณสมศรี) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ จากการที่ทรงรับลิงแสมมือพิการไปเลี้ยงในพระราชวังดุสิต เพราะมือไปติดอยู่ในกะลาที่คนเจาะรูทิ้งไว้ เมื่อรักษาหาย แต่มือพิการ และ ก็ไม่สามารถกลับเข้าฝูงเดิมได้ จึงจัดได้เป็น ลิงในวัง และถูกเรียกว่า “กะลา” และทรงมีกระแสพระราชดำรัส กับสัตวแพทย์ของ สวนสัตว์ดุสิต ให้นำลิงแสม จาก สวนสัตว์ดุสิต มาเป็นเพื่อน คุณกะลา ในวัง ซึ่งในขณะนั้น มีคนนำลูกลิงแสมคู่หนึ่ง เป็น เพศผู้ และ เพศเมีย มาบริจาคให้ สวนสัตว์ดุสิต ลิงแสมคู่นั้นจึงควรได้เข้าไปอยู่ในวัง โดยพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม ลิงแสมเพศผู้ว่า “สมศักดิ์” และ ลิงเพศเมียว่า “สมศรี”
ปัจจุบัน คุณกะลาได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงทำให้ คุณสมศักดิ์ และ คุณสมศรี ได้กลับมาอยู่ในการดูแลของสวนสัตว์ดุสิต เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๓ และได้แจ้งรับเข้าบัญชีสัตว์มีชีวิตของสวนสัตว์ดุสิต เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔
ขอบคุณภาพประกอบจาก-http://www.dusitzoo.org