มก.โชว์งานวิจัยอาหารผู้สูงวัย
นวัตกรรม “กุยช่าย” ขบเคี้ยวง่าย
7 หน่วยพันธมิตรร่วมกันสร้างเครือข่าย CARE FOOD เพื่อหาแนวทางสร้างสรรค์อาหารรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงโอกาสในเชิงพาณิชย์ มีผลงานวิจัยต้นแบบอาหารและงานวิจัยพร้อมใช้สำหรับผู้สูงอายุมาจัดแสดงจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงผลงาน “กุยช่ายสำหรับผู้มีปัญหาด้านการขบเคี้ยว” ของดร.เกศิศณี ตระกูลทิวากร แห่งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมงาน เป็นนวัตกรรมอาหารที่เป็นการแปรรูปผักกุยช่ายสำหรับให้ผู้สูงอายุสามารถบริโภคได้ง่าย โดยยังมีกลิ่น รสชาติอาหารและคุณค่าทางโภชนาการอยู่ครบ หรือแม้แต่การเติมสารอาหารที่ต้องการเพิ่มเข้าไปก็ได้ คาดจะเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ประโยชน์และได้รับความสนใจในตลาดอนาคต
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วม6หน่วยงานพันธมิตร รวมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ร่วมจัดงานสัมมนาและระดมความคิด “นวัตกรรมและเครือข่ายการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ” ขานรับ “Aging Society” เพื่อหารือแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐ มุมมองจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวกับในการส่งเสริมงานวิจัยกับโอกาสทางธุรกิจ การแสดงผลงานวิจัยไทยที่พร้อมใช้จริง รวมถึงการระดมสมองเพื่อจัดทำโรดแมปสำหรับการวิจัยอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก
ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ(UN) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 ประชากรผู้สูงอายุในโลกจะมีจำนวนประมาณ 2,200 ล้านคน หน่วยพันธมิตรทั้ง 7 จึงจับมือร่วมกันสร้างเครือข่าย CARE FOOD ขึ้นเพื่อจัดทำโรดแมปการพัฒนาเทคโนโลยี กำหนดทิศทางการวิจัยสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัยของประเทศไทย และผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผู้ประกอบการสามารถผลิตและจำหน่ายได้จริงในเชิงพาณิชย์
ในโอกาสนี้ดร.เกศิศณี ตระกูลทิวากร แห่งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมงานได้นำนวัตกรรมอาหารผู้สูงวัยมาแสดง ในที่นี้รวมถึง “กุยช่ายสำหรับผู้มีปัญหาด้านการขบเคี้ยว” ที่เป็นการแปรรูปผักกุยช่ายให้ผู้สูงอายุสามารถบริโภคได้ง่ายโดยยังมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่ครบ หรือแม้แต่การเติมสารอาหารที่ต้องการเพิ่มเข้าไป
ดร.เกศิศณีเปิดเผยว่า “ผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านการขบเคี้้ยวอาหารทำให้ขาดการได้รับอาหารประเภทกากใยอาหาร จึงคิดทำให้ได้กากใยอาหารจากผักจริง ๆ โดยคัดเลือกผักหลายอย่าง รวมกุยช่าย หรือแม้แต่สะตอ มาผ่านกรรมวิธีเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเคี้ยวได้ตามกำลังของตนเอง โดยมีความนิ่มระดับที่ลิ้นสามารถดันให้แตกได้ ในขณะที่ยังมีสารอาหารครบถ้วน ซึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ยังอยู่ในขั้นต้นแบบนี้ได้เติมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ อย่างโฟเลต วิตามิน B6 B12 เข้าไป ”
ทั้งนี้กุยช่ายโฉมใหม่ที่มีลักษณะคล้ายเยลลี่ มีกลิ่นและรสชาติเหมือนผักจริง สามารถอยู่ได้นาน 2 สัปดาห์ และดร.เกศิศณีมีความหวังว่า งานนี้ ผลงานวิจัยจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อสานต่อ จนได้ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ พร้อมใช้และเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุต่อไป