รพ.เลิดสิน-เอ็มเทค-พันธมิตรเปิด
‘กระดูกต้นแขนเทียม’ผู้ป่วยมะเร็ง
หน่วยเนื้องอกกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่ออ่อน กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน จัดกิจกรรม “Lerdsin Sarcoma Day” เพื่อสร้างกลุ่มเครือข่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกได้ทำความรู้จักแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินชีวิตภายหลังการรักษา พร้อมกันนี้ได้เปิดตัว “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ซึ่งออกแบบและผลิตได้เองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมงาน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ขอแสดงความยินดีกับ นพ.ปิยะ เกียรติเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน และคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.เลิดสิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และบริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด ที่ได้ร่วมกันพัฒนากระดูกต้นแขนเทียม เพื่อช่วยในการผ่าตัดรักษาคนไข้มะเร็งกระดูก ตั้งแต่ขั้นตอนการระดมสมองจากกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จำนวน 35-40 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาต้นแบบกระดูกต้นแขนเทียมส่วนบนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกในประเทศไทยจนสำเร็จลุล่วง และผ่านการทดสอบการใช้งานทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกจำนวน 10 ราย ใน 3 โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ของทั้ง 3 แห่ง มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีโรคแทรกซ้อนแต่ประการใด
สวทช. ในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยให้เข้มแข็ง ด้วยนวัตกรรมของไทย เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับบริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งความสำเร็จในการพัฒนากระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบนนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนานวัตกรรม ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งจากกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ นักวิจัย และผู้ผลิต ร่วมกันผลิตผลงานวิจัยให้เป็นสินค้านวัตกรรมที่นำไปสู่การใช้งานอย่างแท้จริง ซึ่งหวังว่านวัตกรรวิจัยนี้จะนำไปสู่การขึ้นเป็นบัญชีนวัตกรรม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ วงการแพทย์และผู้ป่วยต่อไป
ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การเปิดตัว “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “ผลิตโลหะทดแทนกระดูก” โดย นพ.ปิยะ เกียรติเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน กลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ทำโครงการนำร่อง (TMSTS-MTEC Proximal Humerus Endoprosthesis) ออกแบบและผลิตกระดูกต้นแขน ด้วยโลหะแทนกระดูกแขน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูก เพื่อทดแทนกระดูกและข้อที่มีราคาแพงมาก เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีทุนทรัพย์น้อยได้ใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรอเก็บข้อมูลหลังการใช้งานจริง
ซึ่งในส่วนนี้ ดร.กวิน การุณรัตนกุล นักวิจัยห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นผู้วิจัย โดยนวัตกรรม “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” เหมาะกับคนไข้กลุ่มปฐมภูมิ ที่พบว่าเป็นมะเร็งกระดูกแขนเหนือข้อศอก ซึ่งจะพบมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยหากตรวจพบแล้วสามารถรักษาก่อนที่จะลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ จะใช้วิธีการเปลี่ยนเอา“กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ไปใส่แทนกระดูกแขนที่เป็นมะเร็ง ซึ่งต้องตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก วิธีการนี้จะช่วยให้คนไข้อยู่ได้นานขึ้น ลดการเสียชีวิต และสามารถกลับมาเรียนจนจบได้ มีอาชีพการงานที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม
อย่างไรก็ตามตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เอ็มเทค และ รพ. เลิดสิน ร่วมกันออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวขึ้นมา และกำลังหาผู้ผลิตตามสเปกที่ต้องการ ซึ่งได้บริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด ที่มีความสนใจอยากผลิตอุปกรณ์ดังกล่าว จึงมาร่วมผลิตตามที่ทีมวิจัยต้องการ ใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ จึงสามารถขึ้นรูปต้นแบบอุปกรณ์ “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ได้ และสามารถผลิตออกมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกต้นแขนส่วนบนได้ในที่สุด
“เราตั้งใจว่าเราทำขึ้นมา เพราะว่าชิ้นส่วนกระดูกเทียมท่อนแขนส่วนบนนี้ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่คนไข้ไม่สามารถเบิกได้จาก สปสช. ซึ่งการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่มีราคาแพงเพราะนำเข้าจากต่างประเทศราคาเริ่มต้นประมาณ 150,000-400,000 บาท ดังนั้นจะมีคนไข้จำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายได้ ดังนั้นหากเราสามารถผลิตเองได้ภายในประเทศและมีต้นทุนต่ำ ก็จะช่วยเหลือคนไข้ได้มาก โดยเฉพาะคนไข้เด็ก ที่มีโอกาสผ่าตัดใส่ กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน แล้วรักษาหาย เขาจะสามารถมีชีวิตต่อไปได้ โตเป็นเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงานและไม่เป็นภาระกับสังคม ที่สำคัญยังมีแขน ที่แม้ว่าจะขยับได้ไม่ 100 % แต่ก็ยังมีแขนที่ขยับแล้วใช้งานได้ ช่วยเสริมบุคลิกภาพการใช้ชีวิตของคนไข้หลังการรักษาได้”
สำหรับวัสดุที่ใช้ทำ “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” มีทั้งโคบอล โคเมียม อัลลอย์ ส่วนแกนกลางของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมกับกระดูกจริงของผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ทำจากวัสดุไททาเนียม มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน แต่เบา และเข้ากับร่างกายได้ดี ไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองนำไปใช้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกแล้ว 10 ราย พบว่าไม่มีการติดเชื้อ หรือปัญหาการหลุดของชิ้นส่วนแต่อย่างใด เป็นที่พอใจของแพทย์และผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง
หัวหน้าห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ ศูนย์เอ็มเทค กล่าวด้วยว่า สำหรับในแง่ของการวิจัย ถือเป็นการสะสมองค์ความรู้เรื่องวัสดุทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องการทำชิ้นส่วนเทียมที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ ซึ่งหากทำชิ้นนี้ ใช้ได้ ผลเป็นที่พอใจ ในอนาคตเมื่อมีองค์ความรู้มากขึ้น ก็สามารถทำชิ้นส่วนอื่นๆ เช่น ข้อเข่า สะโพก ที่มีความยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้ ซึ่งปริมาณการใช้ของผู้ป่วยก็จะเยอะขึ้น
เวลานี้นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างที่ บริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด กำลังขออนุญาตสิทธิ จากเอ็มเทค สวทช. เมื่อได้รับอนุญาตสิทธิผลิต บริษัท คอสโม ฯ สามารถนำนวัตกรรมดังกล่าวไปขึ้นบัญชีนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการที่ภาครัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างๆ สามารถได้สินค้าที่มีคุณภาพ ราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเพราะเป็นนวัตกรรมที่ผลิตได้ในประเทศโดยคนไทย น่าจะช่วยให้การเบิกจ่ายได้ในกองทุนหลักของประเทศ ซึ่งจะเปิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก ขณะเดียวกันก็เป็นราคาที่เหมาะสม ที่ทำให้บริษัท สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง
“เมื่อทำนวัตกรรมขึ้นมาแล้ว คนไข้ได้ใช้ และได้ของในราคาที่คนไข้เข้าถึงก็จะเป็นประโยชน์กับคนไทย เพราะการนำเข้าจากต่างประเทศยังมีราคาแพงอยู่ เมื่อต่างประเทศรู้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง ทำได้เองแล้ว ราคาของต่างประเทศก็อาจจะปรับลดลงมาได้อีก คนไข้ก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น”
ทั้งนี้ ในส่วนของ สวทช. เป็นองค์การวิจัยและพัฒนาส่งเสริมนวัตกรรม ในประเทศไทย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว ตอบโจทย์การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม 1ใน 10 อุตสาหกรรม New S Curve ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง สวทช. โดย ศูนย์เอ็มเทค สามารถทำงานวิจัยได้ตอบโจทย์ประเทศด้วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ใช้ประโยชน์ได้จริงและ สามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีการนำเข้าจากต่างประเทศได้