แบงก์กรุงเทพผนึกกสิกรไทย
ติดตั้งอีดีซี 5.5แสนเครื่องทั่วไทย
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการมาของระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) โดยเฉพาะโครงการขยายการใช้บัตร (Card Expansion) เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ไม่ต้องพกเงินสด ทำให้เหล่าธนาคารตื่นตัว พัฒนาด้านการบริการจนเป็นที่มาของการจับมือของ 5 ธนาคารใหญ่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทหารไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาต ในนามกลุ่ม Thai Alliance Payment System หรือกลุ่ม TAPS ล่าสุดตามด้วยความเคลื่อนไหวของอีก 2 ธนาคารได้แก่ แบงก์กรุงเทพผนึกกสิกรไทย พร้อมติดตั้งอีดีซีภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 550,000 รายทั่วประเทศของภาครัฐ
หลังจาก5 ธนาคารใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) จับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ในนามกลุ่ม Thai Alliance Payment System หรือกลุ่ม TAPS เพื่อให้บริการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) แก่หน่วยงานภาครัฐ ร้านค้าและบริษัทภาคเอกชนทั้งใหญ่-เล็ก ขานรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) โดยเฉพาะโครงการขยายการใช้บัตร (Card Expansion) เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดติดตัว โดยที่ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) จะเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่รวมฟังก์ชั่นของ 5 ธนาคารมาไว้ในเครื่องเดียวกัน ใช้งานสะดวกคล่องตัว จากนั้นไม่นาน ธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทยได้ผนึกความร่วมมือเพื่อให้บริการที่คล้ายกัน
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ในฐานะพันธมิตรที่ดีและร่วมมือกันในหลายโครงการ จับมือร่วมกันในชื่อ “กิจการการค้าร่วมโครงการอีเพย์เม้นต์” ได้รับการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการคัดเลือกและกำกับดูแลผู้ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์กระทรวงการคลัง เข้าร่วมดำเนินโครงการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ในการติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) จำนวน 550,000 รายทั่วประเทศ โดยมั่นใจว่า ด้วยความแข็งแกร่งของฐานร้านค้ารับบัตรเครดิตเดิมของธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยที่รวมกันแล้วมีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% จะช่วยให้การดำเนินโครงการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาล และจะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในการชำระเงินเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนไทย
โดยเฉพาะการรับบัตรที่มีโครงสร้างเครือข่ายระบบการชำระเงินของประเทศไทย (Local Card Scheme) หรือบัตรที่มีการประมวลผลในประเทศ (Local Switching) ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีแบรนด์ เทคโนโลยี และกฎข้อบังคับของตนเอง ที่จะทำให้ต้นทุนค่าธรรมเนียมต่ำลง สอดคล้องกับโครงการในครั้งนี้ที่ได้มีการกำหนดเพดานอัตราค่าธรรมเนียมการรับบัตร (Merchant Discount Rate) หรือ MDR สูงสุดไม่เกิน 0.55% ต่อครั้ง ดึงดูดให้ร้านค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ยินดีรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตมีจำนวนขยายตัวในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพจะเพิ่มความมั่นใจให้กับร้านค้าต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองธนาคาร มีกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกัน สามารถจัดสรรเป้าหมายและแบ่งภาระความรับผิดชอบได้ชัดเจน มีการวางแผนความร่วมมือในระยะยาว ในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศให้ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ
โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้ธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการติดตั้งเครื่องอีดีซีกับหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าไปมีส่วนในการขยายบริการทางการเงินให้กับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นกว่าเดิม สำหรับการเข้าติดต่อร้านค้านิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นอีกช่องทางในการขยายฐานลูกค้า และเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าในการตัดสินใจด้วย
“ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย มีความยินดี และภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศ เพื่อลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน และส่งเสริมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และลดการใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ การกระจายติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) ทั่วประเทศให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และร้านค้าทั่วไป จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชน และภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึง และใช้บริการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเดบิต ได้อย่างสะดวก และแพร่หลาย ด้วยต้นทุนการจัดการเงินสดที่ลดลง ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นผลดีในระยะยาวต่อประเทศ ภาคธุรกิจการค้า และประชาชน ทำให้โครงสร้างเครือข่ายระบบการชำระเงินของประเทศไทยเทียบเท่าระบบสากล ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลในเรื่อง National e-Payment ในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน เพื่อเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ในอนาคต”
ขอบคุณภาพประกอบจาก- http://news.mthai.com