ภาคประชาชนออกแถลงการณ์
ไม่ร่วมประชาพิจารณ์ร่างพรบ.สสส.
ในการประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ… ครั้งที่2 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ซึ่งมีการเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า300คน เข้าร่วมรับฟังและนำเสนอข้อคิดเห็น ระหว่างการประชุมได้มีการทักท้วงจากเครือข่ายภาคประชาชน เนื่องจากถูกจำกัดบทบาท ถูกเมินให้เพิ่มเวทีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับฟังความคิดเห็น อัดหลักการและเหตุผลขาดข้อเท็จจริง มีอคติ จนช่วงบ่ายต้อง“วอล์คเอ้าท์”ไม่ขอเข้าร่วมประชาพิจารณ์กว่า100คน ก่อนแถลงชี้ กระบวนการและขั้นตอนจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ. สสส.ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….. ที่ผ่านประชามติไปแล้ว
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตนรับไม่ได้ที่ภาครัฐมีการกล่าวหาว่า การทำงานของ สสส.ไร้ประสิทธิภาพ ขาดซึ่งหลักธรรมมาภิบาล ทั้งที่เห็นอยู่ว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพอย่างไรบ้าง ดังนั้นเวทีนี้ เข้าข่ายทฤษฎีสมคบคิดและเป็นเพียงพิธีกรรม และไม่ถูกเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งคนที่ร่างกฎหมายนี้ตั้งโจทย์ผิดมาตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันขอตั้งคำถามว่า ความคุ้มค่าตรงนี้ใครเป็นคนวัดค่า และต้องมาเถียงกันต่อว่า ความคุ้มค่าที่ว่านั้นมันคืออะไร องค์กรรัฐที่มีหน้าที่โดยตรง มีองค์กรไหนที่ทำงานคุ้มค่าบ้าง รัฐใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ถามว่าตอนนี้คุ้มค่าหรือยัง เพราะวันนี้เราไม่ได้เอาความชั่วมาถกเถียงกัน แต่ต้องการสร้างความยุติธรรมให้ทุกฝ่าย โดยนางทิชา ได้วอร์คเอ้าท์เดินออกจากห้องทันที และประกาศไม่ขอมีส่วนร่วมกับเวทีลักษณะนี้
จากนั้นตัวแทนภาคประชาชน ในนามขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน(ขสบ.)กว่า30 คน ได้ยื่นอ่านแถลงการณ์ หน้าห้องประชุม เพื่อคัดค้านกระบวนการและขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพ.ร.บ.สสส.
โดยนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงาน ขสบ.เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ดังนี้ ขสบ.ซึ่งเป็นองค์กรภาคี 30 เครือข่าย ที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ และดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพมาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปี มีความเห็นต่อการจัดเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้
1. กระบวนการและขั้นตอนการจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….. ที่ผ่านประชามติไปแล้ว โดยรัฐไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่ารอบด้านและเป็นระบบ อีกทั้งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
2. หลักการและเหตุผลในการขอแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ไม่มีการศึกษาทางวิชาการอย่างเป็นระบบถึงวัตถุประสงค์ในการแก้ไขว่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ เหตุผลที่ขอแก้ไขยังขัดแย้งกับความเป็นจริง เช่น การอ้างว่า สสส. มีการจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ที่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบ
ปรามการทุจริตในภาครัฐ(สำนักงาน ป.ป.ท.) ให้การรับรองและมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติแก่ สสส. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในระดับสูงมาก ซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ การแก้ไขจะทำให้กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพด้อยประสิทธิภาพลง ด้วยการลดงบประมาณและดึงงบประมาณ สสส.เข้าสู่ระบบราชการ ที่สวนทางกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ และยกย่องให้ สสส. เป็นองค์กรนวัตกรรม และเป็นตัวอย่างของนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
ขสช. ขอคัดค้านและขอให้ยุติวิธีการอันไม่ถูกต้อง ขสช.จึงมีความเห็นว่า กระบวนการการแก้ไขกฎหมายที่ดีจะต้องเริ่มต้นด้วยการให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทำหน้าที่ศึกษาและรวบรวมข้อมูลหลักฐาน รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ จากนั้นจึงนำไปสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง