ชู5เมืองเอเชียพ่วง “เชียงใหม่”
ศักยภาพสู่ศูนย์รวมสตาร์ทอัพ
เมื่อเอ่ยถึงธุรกิจ startup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ดังเช่น กรุงเทพฯ สิงคโปร์ โฮจินห์ และกัวลาลัมเปอร์มักถูกนึกถึงเป็นลำดับแรกในฐานะแหล่งรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพ
อย่างไรก็ดี จากการที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากก่อตั้งและดำเนินการโดยผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมักไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานเป็นของตนเอง และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นนักพเนจรดิจิตัล (digital nomads) ซึ่งทำงานโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลักจึงสามารถทำงานในสถานที่ใดๆ ก็ได้ รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวไปด้วยและทำงานไปด้วย
ทำให้เมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวงค่อยๆ พัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์รวมธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยเช่นกัน และเปิดโอกาสให้เกิดตลาดออฟฟิศรูปแบบใหม่ในเมืองเหล่านี้ ที่เรียกว่า โคเวิร์คกิ้งสเปซ (coworking space) หรือพื้นที่สำนักงานสำหรับใช้ร่วมกัน โดยเป็นการจัดสรรที่นั่งทำงานไว้บริการสำหรับให้ผู้ที่ทำงานหรือธุรกิจอิสระ หรือพนักงานของบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานที่ออฟฟิศ และมีอุปกรณ์สำนักงาน-สิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้ใช้ร่วมกัน ซึ่งธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซเองก็นับเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพประเภทหนึ่งด้วยเช่นกัน
บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล วิเคราะห์ศักยภาพ 5 เมืองของประเทศในเอเชียตะวันเฉียงใต้ในการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์รวมของธุรกิจสตาร์ทอัพ ประกอบด้วยปีนังของมาเลเซีย เชียงใหม่ของไทย ดานังของเวียดนาม บันดุงและบาหลีของอินโดนีเซีย
ปีนัง
ปีนังเป็นเมืองเก่าของมาเลเซียที่มีเสน่ห์ตรงใจผู้ก่อตั้งและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อย รวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่มีผลงานดีเด่นจนได้รับรางวัล อาทิ Piktochart ที่พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสร้างอินโฟกราฟฟิค นอกจากนี้ ปีนังยังได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากภาครัฐฯ ให้เป็นแหล่งรวมธุรกิจสตาร์ทอัพโดยหนึ่งในตัวเร่งคือการเปิด @CAT for Creative, Analytics & Technology ซึ่งใช้พื้นที่ในอาคารประวัติศาสตร์อาคารหนึ่งในปีนังเปิดบริการเป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซสำหรับรองรับธุรกิจสตาร์ทอัพ
เชียงใหม่
เชียงใหม่ได้รับฉายาว่าเป็นเมืองหลวงของนักพเนจรดิจิตอล ด้วยจุดเด่นของการมีค่าใช้จ่ายไม่แพงและคุณภาพชีวิตสูง ทั้งนี้ เชียงใหม่มีชื่อเสียงด้านธุรกิจในระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีองค์กร/บริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ บีบีซีและอเมซอน เข้ามาใช้พื้นที่ของปันสเปซ สถานบริการโคเวิร์คกิ้งสเปซที่เชียงใหม่เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ที่เชียงใหม่ยังมีโครงการออนไอทีวัลเลย์ (Oon IT Valley) ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาศูนย์บ่มเพาะ สร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพและธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงเกษตรกร ให้มีความรู้ความสามารถในการนำเทคโนโลยีเข้าไปส่งเสริมการประกอบธุรกิจ
ดานัง
ดานังเป็นเมืองท่าและเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเมืองหนึ่งของเวียดนามซึ่งค่อยๆ พัฒนามาเป็นหนึ่งในศูนย์รวมของธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมีบริษัทรายใหญ่ๆ อย่างเช่น เวียตเทล (Viettel) เข้ามาลงทุนเพื่อทำให้ดานังกลายเป็น “ศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมริมทะเล” นอกจากนี้ ในปีที่แล้ว ได้มีการจัดงานสตาร์ทอัพแฟร์ขึ้นที่เมืองๆ นี้ และยังมีการเปิดศูนย์บ่มเพาะธุรกิจแห่งใหม่ขึ้นด้วยเงินลงทุน 45.5 ล้านบาท เพื่อให้การสนับสนุนแก่กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ
บันดุง
บันดุงนับเป็นเมืองที่โดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดเมืองหนึ่งของอินโดนีเซีย การมีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมากและการเป็นแหล่งรวมของธุรกิจหลากหลายประเภทที่เกื้อหนุนกันและกัน ทำให้บันดุงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีนายริดแวน คามิล บันดุงยังได้เป็นเมืองนำร่องในการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้แอพ Edubox ที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น และการก่อสร้างเทคโนโพลิส (Teknopolis) หรือเมืองศูนย์กลางทางเทคโนโลยี ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์น้อยแห่งอินโดนีเซีย
บาหลี
เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ได้รับการขนานนามว่า ซิลิคอน บาหลี จากการที่มีธุรกิจสตาร์ทอัพหลายรายเข้ามาลงทุนและประสบความสำเร็จ อาทิ แลบสเตอร์ (Labster), เมลเบิร์ด (Mailbird) และสมาร์ทลอนช์ (Smart Launch) นอกจากนี้ บาหลียังเป็นหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมของนักพเนจรดิจิตอล นำไปสู่การเกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ ดังเช่น โรม (Roam) และไวฟลาย นอแมดส์ (Wifly Nomads) ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ (รวมถึงโคเวิร์คกิ้งสเปซ) ที่ตอบสนองความต้องการที่กำลังขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นของนักพเนจรดิจิตอลเหล่านี้