TMB ช่วยSMEsประหยัด
4ปีลดค่าธรรมเนียมไป150ล.
ทีเอ็มบี ดูแลลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างดีและตรงไปตรงมา ช่วยลดค่าธรรมเนียม ประหยัดต้นทุน ออกบริการเว้นค่าธรรมเนียมข้ามเขต ค่าธรรมเนียมเช็ค ช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมไปได้ 150 ล้านบาทใน 4 ปีที่ผ่านมา ประหยัดค่าธรรมเนียมโอนข้ามเขตได้ 300 ล้านบาท มีสินเชื่อเงินทุน 3 เท่าของหลักประกันเพื่อช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน สินเชื่อทีเอ็มบี 3 เท่าพลัส สินเชื่อทีเอ็มบีเอสเอ็มอี 3 เท่า พร้อมเพิ่ม มีบสย. ช่วยค้ำประกัน
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาธนาคารยึดแนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน…เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น เป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าใช้ชีวิตได้เต็มที่ สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกและง่าย ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการของทีเอ็มบีที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง (Need Based) ไปพร้อมกัน
สำหรับส่วนของลูกค้าเอสเอ็มอีนั้น นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี เปิดเผยว่า ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับลูกค้าเอสเอ็มอีด้วยความจริงใจและตรงไปตรงมากับลูกค้าเสมอมา มองว่าค่าธรรมเนียมเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย ดังนั้น จึงได้เริ่มยกเว้นค่าธรรมเนียมข้ามเขต ค่าธรรมเนียมเช็คเรียกเก็บ ให้กับลูกค้าทีเอ็มบีตั้งแต่ปี 2556 ช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีประหยัดค่าธรรมเนียมไปได้ 150 ล้านบาทใน 4 ปีที่ผ่านมา
และยกระดับเพิ่มขึ้นอีกขั้นด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน ข้ามเขต ข้ามแบงก์ทำให้ลูกค้าประหยัดค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 300 ล้านบาท
ล่าสุดได้ใช้เทคโนโลยี เข้ามาทำให้เรื่องธุรกรรมรับ – จ่ายสะดวกขึ้น โดยเชื่อมโยงบัญชีธุรกิจ TMB SME One Bank เข้ากับช่องทางดิจิทัล คือ TMB Business Touch ซึ่งเป็นโมบายล์แอพพลิเคชั่นตัวแรกของไทย ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อ SME โดยเฉพาะ
สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ สามารถใช้ TMB Business Click ธนาคารออนไลน์ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่อย่างแท้จริง เพิ่มความสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา และทุกครั้ง มีการทำธุรกรรมผ่านทาง TMB Business Click มากกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 67%
นอกจากนี้ หากลูกค้าเดินบัญชีกับทีเอ็มบีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Promptpay , EDC หรือการเดินบัญชีปกติ ก็จะมีสิทธิ์ได้รับพิจารณาวงเงินสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะธนาคารสามารถวิเคราะห์การทำธุรกรรมรับ – จ่ายของลูกค้าตลอด จนทำให้ทราบได้ทันทีว่าลูกค้ามีความต้องการเงินทุนเพิ่มเติมหรือไม่
ปัจจุบันลูกค้าเอสเอ็มอีได้รับการสนองตอบด้านสินเชื่อที่เป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจธนาคาร โดยได้รับเงินทุน 3 เท่าของหลักประกัน โดยทีเอ็มบีเริ่มให้สินเชื่อทีเอ็มบี 3 เท่าของมูลค่าหลักทรัพย์เป็นรายแรก ส่งผลให้ขยายฐานลูกค้าได้มากกว่า 7,000 ราย ในปีแรกด้วยวงเงิน 58,000 ล้านบาทและมีการยกระดับอย่างต่อเนื่อง
ในปีถัดมาเป็นสินเชื่อทีเอ็มบี 3 เท่าพลัส โดยลูกค้าได้รับการค้ำประกันทั้งจาก บสย.และInternational Finance Corporation หรือ IFC ทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มเป็น15,000 ราย วงเงินเพิ่มเป็น 140,000 ล้านบาท ล่าสุด ทีเอ็มบีสนับสนุนให้ลูกค้าใช้หลักประกันรูปแบบใหม่ในการเพิ่มวงเงินเป็นธนาคารแรก หรือสินเชื่อทีเอ็มบีเอสเอ็มอี 3 เท่า พร้อมเพิ่ม
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ กล่าวว่า การสนับสนุนเงินทุนในระบบ Supply Chain เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อแต่ละหน่วยธุรกิจใน Supply Chain แข็งแกร่ง จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้ทั้ง Supply Chain จึงเริ่มให้การสนับสนุนเงินกู้ให้กับ Supply Chain ของลูกค้า เช่น ปตท. บุญรอด SCG คูโบต้า และเซ็นทรัล รวมถึงลูกค้าของลูกค้า ซึ่งก็คือ ธุรกิจเอสเอ็มอี นั่นเอง ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาต่อยอด ทำให้ลูกค้าของลูกค้าของลูกค้า หรือ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น และเมื่อทั้ง Supply Chain แข็งแกร่ง ก็สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้าได้ และในปัจจุบันได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพ ทำให้เป็นระบบ Paperless ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถจัดเก็บข้อมูลและนำกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมามีมูลค่าการชำระเงินกว่า 81,000 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของยอดขายของลูกค้าทีเอ็มบี
ส่วนในเรื่องของความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับผู้นำเข้าและส่งออก ลูกค้าจำเป็นต้องได้รับข้อมูลแนวโน้มเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ และต้องการคำแนะนำที่มีประโยชน์ประกอบการตัดสินใจอย่างเร่งด่วนเสมอ ทีเอ็มบีจึงได้พัฒนา FX Simulation เพื่อเป็นเครื่องมือให้ลูกค้าร่วมวางแผนบริหารความเสี่ยงกับผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ลูกค้าสามารถทำได้ด้วยตนเอง และลองวางแผนในหลาย ๆ สถานการณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและควบคุมความเสี่ยง ช่วยให้ลูกค้าสามารถได้ผลกำไรตามที่ได้คาดการณ์เอาไว้
โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า ทีเอ็มบียังคงพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงธุรกิจซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง และก้าวไปพร้อมกับลูกค้าธุรกิจทุกสถานการณ์เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างทันท่วงที
นายบุญทักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการ Make THE Difference เพื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลแล้ว ทีเอ็มบียังดำเนินการเพื่อ Make THE Difference ต่อชุมชนและสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่าน “ไฟ-ฟ้า” กิจกรรมเพื่อการพัฒนาเยาวชนและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา “ไฟ-ฟ้า” ได้จุดประกายการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในชุมชนด้วยการเข้าถึงการเรียนรู้ศิลปะและทักษะชีวิต ผ่านศูนย์ “ไฟ ฟ้า” 4 แห่ง ได้แก่ ประดิพัทธ์ จันทน์ ประชาอุทิศ และบางกอกน้อย โดยมีเยาวชนมาเรียนรู้ที่ศูนย์ “ไฟ-ฟ้า” มากกว่า 60,000 ครั้งต่อปี และ “ไฟ ฟ้า” ยังได้ขยายการเรียนรู้ไปสู่โรงเรียนต่างๆ โดยมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 140,000 คน ในปี2559ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ธนาคารยังเปิดโอกาสให้พนักงานทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่ช่วยกันทำกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 37 แห่ง และมีพนักงานทีเอ็มบีมากกว่า 50% หรือ 4,500 คนเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ
สำหรับเป้าหมายในปี 2560 ในส่วนของเยาวชน ตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าถึงเยาวชนผ่านการเรียนรู้ที่ศูนย์ “ไฟ-ฟ้า” เพิ่มมากกว่า 10% อาสาสมัครทีเอ็มบีเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 คน ทั้งองค์กร และสานต่อกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนให้กับชุมชนอีก 37 แห่งทั่วประเทศ