หมุนตามโลก.คณาภพ ทองมั่ง
ผู้นำอาเซียนท่าทีอ่อนต่อจีน
ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานสมาคมอาเซียนวาระปัจจุบัน ออกคำแถลงโดยหลีกเลี่ยงการระบุอ้างอิงตรงๆ เรื่องที่จีนกำลังสร้างเกาะเทียมต่างๆในทะเลจีนใต้ ตลอดจนการติดตั้งอาวุธบนที่มั่นในน่านน้ำดังกล่าว แถลงการณ์ของประธานอาเซียนซึ่งมีขึ้นหลังการประชุมสุดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เสร็จสิ้นลงเมื่อวันเสาร์(29 เม.ย.) แสดงว่า บรรดาผู้นำอาเซียนเเสดงจุดยืนที่อ่อนลงเกี่ยวกับกรณีพิพาทน่านน้ำและหมู่เกาะในทะเลจีนใต้
ในแถลงการณ์สุดท้ายความยาว 25 หน้าซึ่งออกในนามของประธานอาเซียน ได้ตัดข้อความส่วนที่อ้างอิงถึง “การถมทะเลสร้างเกาะเทียมและการประกอบติดตั้งเสริมกำลังทางทหาร” ของจีน ซึ่งรวมอยู่ในเอกสารเช่นนี้ของการประชุมระดับผู้นำอาเซียนปีที่แล้วในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ตลอดจนปรากฏอยู่ในร่างคำแถลงก่อนหน้านี้ของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ตลอดจนสำนักข่าวต่างประเทศอีกหลายแห่งต่างระบุว่า ได้เห็นถ้อยแถลงดังกล่าว
นักการทูตชาติอาเซียน 2 คนเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า คำแถลงสุดท้ายที่ปรากฏออกมาเช่นนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจีนและสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงมะนิลา พยายามกดดันฟิลิปปินส์ให้ถอดเอากิจกรรมต่างๆในทะเลจีนใต้ซึ่งก่อให้เกิดการพิพาทโต้แย้งกันอย่างหนัก ออกไปจากวาระประชุมที่เป็นทางการของอาเซียน
นอกจากนั้น แถลงการณ์สุดท้ายที่ปรากฏ ยังเป็นการบ่งชี้ว่า 4 ชาติสมาชิกอาเซียนที่มีข้อพิพาทกับจีนเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ซึ่งทูต 2 คนดังกล่าวระบุว่า ได้แสดงความต้องการให้ใช้จุดยืนที่หนักแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้นนั้น ได้ยินยอมให้ออกแถลงการณ์สุดท้ายซึ่งมีน้ำเสียงประนีประนอมมากกว่า
จีนไม่ได้เป็นสมาชิกของอาเซียนซึ่งเป็นการรวมตัวของ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซึ่งมีเฉพาะสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม แต่ก็แสดงท่าทีอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อเนื้อหาในคำแถลงต่างๆ ของสมาคมอาเซียน
ที่ผ่านมารัฐบาลจีนมักถูกกล่าวหาบ่อยครั้งว่าพยายามแสดงอิทธิพลต่อร่างคำแถลงของอาเซียนซึ่งมองเห็นว่า แสดงท่าทีคัดค้านไม่พอใจและท้าทายการกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยอย่างครอบคลุมกว้างขวางของจีน
ทั้งสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงมะนิลา และกระทรวงการต่างประเทศจีน ต่างไม่ยอมตอบถำถามที่ผู้สื่อข่าวขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (30 เม.ย.) ของประธานอาเซียน ยังมีข้อความชี้ถึง “ความร่วมมือที่ปรับปรุงยกระดับขึ้นระหว่างอาเซียนกับจีน” แต่ไม่ได้มีการพาดพิงถึง “ความตึงเครียดต่างๆ” หรือ “กิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มระดับสูงขึ้น” อย่างที่เห็นในร่างคำแถลงก่อนหน้านี้หลายๆ ร่าง ตลอดจนในแถลงการณ์สุดท้ายของปีที่แล้ว โดยเพียงแต่กล่าวคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่า ผู้นำบางคนแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “พัฒนาการต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้” ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งทั้งมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่างๆ
นักการทูตฟิลิปปินส์ผู้หนึ่งกล่าวว่า เป็นความลับที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า จีนพยายามที่จะอิงสมาชิกอาเซียนบางชาติในการปกป้องผลประโยชน์ของจีน แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่มีความล่าช้าผิดปกติในการออกแถลงการณ์สุดท้ายของปีนี้ ซึ่งที่จริงแล้วควรที่จะออกหลังปิดประชุมสุดยอดตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา
“มีประเทศสมาชิกหนึ่งหรือสองรายซึ่งล็อบบี้เพื่อให้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในเนื้อหาบางตอนในคำแถลง ทว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทะเลจีนใต้” แหล่งข่าวรายนี้กล่าวกับรอยเตอร์
ที่ผ่านมาจีนได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างโกรธเกรี้ยวต่อชาติสมาชิกอาเซียนชาติใดก็ตาม ซึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนกำลังเร่งถมแนวปะการังต่างๆ ในหมู่เกาะสแปรตลีย์และสร้างเป็นเกาะเทียมขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งการติดตั้งระบบขีปนาวุธตลอดจนสร้างลานบินขึ้นบนเกาะเทียมเหล่านี้
นักการทูตชาติอาเซียนอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ถ้อยคำในแถลงการณ์สุดท้ายนี้เป็นตัวแทนอย่างถูกต้องแท้จริงของบรรยากาศในการประชุมสุดยอดที่กรุงมะนิลาครั้งนี้
นักการทูตผู้นี้กล่าวว่า “เราเคารพในทัศนะต่างๆ ของฝ่ายฟิลิปปินส์ และให้ความร่วมมือด้วย …มันเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเด็นปัญหานี้ได้มีการหารือกันอย่างไร (ในที่ประชุมสุดยอด)”
แถลงการณ์ที่มีน้ำเสียงอ่อนลงเช่นนี้ ปรากฏออกมาในขณะที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ พยายามหาทางลบความบาดหมางที่ประเทศของเขามีอยู่กับจีนมาเป็นแรมปี หลังจากจีนใช้ท่าทีอันแข็งกร้าวในการยืนกรานการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทางทะเลของตน ทั้งนี้ หลังจากความพยายามในการล็อบบี้ของประธานาธิบดีดูเตอร์เต จีนก็ยินยอมให้ชาวประมงฟิลิปปินส์กลับเข้าไปยังพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำในบริเวณสันดอนสคาร์โบโร โชล หลังจากทำการปิดกั้นขัดขวางอยู่เป็นเวลา 4 ปี
ในการส่งสัญญาณที่แสดงไมตรีจิตมิตรภาพของประธานาธิบดีดูเตอร์เตกับจีน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรือรบจีน 3 ลำได้เดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสิ่งที่นานๆ ครั้งจะเกิดขึ้น โดยที่ผู้นำฟิลิปปินส์ได้ขึ้นไปตรวจเยี่ยมเรือพิฆาตติดขีปนาวุธของจีนลำหนึ่งด้วยในวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 พ.ค.) ณ เมืองดาเวา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของประธานาธิบดีผู้นี้
ยุทธศาสตร์ด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีดูเตอร์เต เป็นสิ่งที่กลับหัวกลับหางกับของรัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดที่แล้วที่นำโดยประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ซึ่งเลือกที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ และถูกจีนมองอย่างข่นเคืองใจว่าเป็นตัวก่อกวน
เมื่อปี 2556 รัฐบาลฟิลิปปินส์ในยุคประธานาธิบดีอากีโน ได้ท้าทายรัฐบาลจีนด้วยการยื่นฟ้องคดีเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ซึ่งตั้งอยู่ในนครเฮก ของเนเธอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในองค์กรยุติธรรมซึ่งได้รับการรับรองจากสหประชาชาติให้ตัดสินกรณีพิพาทอันเกี่ยวข้องกับกฎหมายทะเล
สองสัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตจะเข้ารับตำแหน่งผู้นำเมื่อกลางปีที่แล้ว ศาลอนุญาโตตุลาการที่นครเฮกได้ประกาศคำตัดสินซึ่งระบุให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะ ทำให้จีนโกรธเคืองมาก แต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า เขาจะไม่กดดันจีนให้ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินในเร็ววัน และหันไปให้ความสำคัญกับการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทำธุรกิจกับจีนมากกว่าการทะเลาะเบาะแว้งกัน
ในแถลงการณ์สุดท้ายของประธานอาเซียนครั้งนี้ ไม่มีข้อความใดๆ ที่เอ่ยถึงคดีที่ตัดสินโดยศาลอนุญาโตตุลาการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในหมวดที่แยกออกมาว่าด้วยทะเลจีนใต้นั้น มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งระบุว่า จำเป็นที่จะต้อง “เคารพอย่างเต็มที่ต่อกระบวนการต่างๆ ทั้งทางกฎหมายและทางการทูต” ในการแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาท
แหล่งข่าวนักการทูตชาติอาเซียน 2 คนกล่าวว่า บรรดาเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนในรุงมะนิลาได้ล็อบบี้อยู่หลังฉากให้ตัดข้อความประโยคนี้ไปเลย และถือว่าข้อความเช่นนี้ยังคงเป็นการอ้างอิงอย่างซ่อนเร้นถึงคำตัดสินของศาลกรุงเฮก
นักการทูตอีกผู้หนึ่งชี้ว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างจีนกับอาเซียนเพื่อร่างกรอบโครงสำหรับการเจรจาจัดทำแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ น่าจะเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้อาเซียนตกลงกันได้ในเรื่องการออกแถลงการณ์ที่มีน้ำเสียงอ่อนลงครั้งนี้
เวลานี้ทุกๆ ฝ่ายต่างแสดงความต้องการที่จะจัดทำกรอบโครงดังกล่าวให้เสร็จสิ้นในปีนี้ ถึงแม้ยังคงมีความระแวงสงสัยกันอยู่ว่า จีนจะยอมรับกฎกติกาที่จะออกใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ระดับยุทธศาสตร์โลกของตนหรือไม่
จีนพยายามสกัดกั้นอิทธิพลของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมถึงทะเลจีนใต้ การที่อาเซียนออกแถลงการณ์ประนีประนอมกับจีนครั้งนี้ อาจส่งผลให้สหรัฐต้องปรับเปลี่ยนนโยบายระยะสั้นต่อเอเชียแปซิฟิก เพราะถึงอย่างไร สหรัฐก็ต้องพึ่งพาจีนในการแก้ปัญหาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือท่าทีของสหรัฐภายในหนึ่งถึงสองวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่จะต้องจับมองต่อไป
ขอบคุณภาพประกอบจาก-http://news.abs-cbn.com