ITAPสวทช.-สภาหอการค้า-มก.
ติวThaiGAP- Primary ThaiGAP
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ITAP สวทช. ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจันทบุรี สหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ และคณะเกษตร มก. วิทยาเขตกำแพงแสน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “มาตรฐาน ThaiGAP / Primary ThaiGAP” แก่ผู้ประกอบการSMEs ผักและผลไม้ และกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออก ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี และโรงแรมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP เร่งเดินหน้าผลักดันผ่านเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน จ.จันทบุรี (หอการค้าไทย) เพื่อเป็นแปลงหรือพื้นที่ใช้เรียนรู้ระบบมาตรฐานของภูมิภาค เพื่อผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้เร็ว เป็นผลผลิตปลอดภัย ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิตพืชผักและผลไม้ไทย
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ภารกิจของโปรแกรม ITAP สวทช. คือสนับสนุน SMEs ไทย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการผลิตของผู้ประกอบการ หลังจากสนับสนุนให้งบประมาณในการดำเนินโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 30 รายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP และโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 – ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2 รายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Primary ThaiGAP โดยชนิดผักและผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนมากกว่า 70 ชนิด เช่น เมล่อน มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แคนตาลูป แตงโม กล้วยหอม พริก ทุเรียน มังคุด เงาะ และมะเขือเทศ เป็นต้น
“ในการดำเนินการ 2 โครงการข้างต้น โปรแกรม ITAP สวทช. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดย ดร.รุ่งนภา ก่อประดิษฐ์สกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ พร้อมด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรเข้าร่วมให้คำปรึกษาแก่ SMEs
โดยโปรแกรม ITAP สวทช. ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทย ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญเข้าเยี่ยมชมและให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการในด้านการบริหารจัดการระบบของการผลิตสินค้าผักและผลไม้ให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของ ThaiGAP ตั้งแต่กระบวนการปลูก การบรรจุ รวมไปถึงการขนส่ง ซึ่งมาตรฐาน ThaiGAP มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติและการตรวจรับรองที่ถูกกว่ามาตรฐานของต่างประเทศ ความสำเร็จของโครงการคือ ได้ช่วยผู้ประกอบการในการเพิ่มคุณภาพสินค้าผักและผลไม้ของไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล ขณะที่มาตรฐาน Primary ThaiGAP เป็นมาตรฐานระดับพื้นฐานสำหรับในประเทศ เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการผักและผลไม้ขนาดเล็กหรือเป็นลูกค้ารายย่อย ได้มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้า และยกระดับมาตรฐานสินค้าตามข้อกำหนดและมาตรฐาน” นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ กล่าว
ทั้งนี้แปลงทุเรียนใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP สวทช. เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ด้วยมาตรฐาน ThaiGAP ในโอกาสจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ผู้ประกอบการผักและผลไม้ และกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออก ครั้งนี้ โปรแกรม ITAP สวทช. ได้จัดกิจกรรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงาน แปลงผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นแปลงทุเรียน ขนาดพื้นที่ปลูก 8 ไร่ อยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐาน ThaiGAP โดยการลงพื้นที่ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญโครงการ และกลุ่มเกษตรกรด้านผักและผลไม้ ไปสังเกตการณ์ ดูการประเมิน และศึกษาความเสี่ยงของแปลง เช่น การใช้สารเคมีที่ถูกต้อง สุขอนามัยในแปลง สุขอนามัยในการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น
ด้านนายสิทธิพงษ์ ญาณโส เจ้าของสวนทุเรียนและเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่กล่าวว่า ส่วนของตนมีพื้นที่รวม 30 ไร่ แต่ที่ให้ผลประโยชน์ได้มีอยู่ 16 ไร่ การ ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของจันทบุรี ที่ผ่านมาตนได้ทำมาตรฐานเพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตทุเรียนมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ ประกอบกับการได้รับคำแนะนำจากหอการค้าไทยผ่านทางสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อให้ทำมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งเน้นในเรื่องอาหารปลอดภัย ทำให้ตนมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้แปลงทุเรียนของตนได้รับมาตรฐาน ThaiGAP เพราะอยากให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ทุเรียนที่มีความปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถขยายตลาดไปได้กว้างขวางขึ้น โดยขณะนี้แปลงทุเรียนของตนอยู่ระหว่างการตรวจประเมินเพื่อรับรองการได้มาตรฐาน ThaiGAP
นายสิทธิพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า การจัดการภายในสวนคือ ใช้ระบบกึ่งอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ระบบอินทรีย์แต่อาจจะมีเคมีบ้างเป็นบางครั้งถ้ามีการระบาดของแมลง คือ ภายในสภาพสวน พวกวัชพืชจะไม่มีการใช้งานยาพ่นไปในแปลง แต่จะใช้วิธีตัดทั้งหมด การใช้น้ำจะใช้น้ำในสระ ไม่เกี่ยวกับการระบบของน้ำคลอง โดยจะกำหนดความสะอาดของน้ำได้ เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญ การใส่ใจในการผลิตเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุเรียนของสวนนี้ขายดี สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
“การทำผลผลิตพยายามทำให้ได้มาตรฐาน 100 วันขึ้นไป ไม่ใช่แค่ 70-80 วันตัดผลผลิต จะพยายามจะเน้นคุณภาพให้มากขึ้น ทำให้เป็นตัวอย่างที่ดียิ่งขึ้น ให้ทุกคนได้ทานแล้วอร่อย ไม่ใช่ทานแล้วเบื่อ ต่อไปมาทานที่สวนผม แล้วจะไม่มีโอกาสเบื่อ รสชาติจะอร่อยทุกปี
อยากให้ชาวสวนอาชีพ เข้ามาทำมาตรฐาน มันเป็นอนาคตของเรา เป็นอาชีพของเรา ถ้าวันใดวันหนึ่งไม่มีใครกินทุเรียนเรา เราจะไปขายที่ไหนล่ะครับ มันเป็นความภาคภูมิใจของเราที่ทำให้คนทานแล้ว ยิ้มได้ ไม่ใช่ทานเข้าไปแล้วยิ้มไม่ออก”
สำหรับนายวิเชียร รัตนาธรรม เป็นอีกหนึ่งสมาชิกสหกรณ์ท่าใหม่ที่มาร่วมเข้าอบรมในครั้งนี้ด้วยเปิดเผยว่า สนใจมาเข้าร่วมเพราะทราบว่า ThaiGAP คือ มาตรฐานสินค้าปลอดภัย ซึ่งอยากให้ทำกันทั้งประเทศ พอทราบข่าวว่า มีการจัดอบรมในเรื่องนีก็รีบเข้าร่วม โดยนายวิเชียรทำสวนมังคุดพื้นที่ 6 ไร่ 120 ต้นและได้มีการเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วม ThaiGAP โดยเตรียมตัวจัดทำเอกสารต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการประเมินไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ผ่านขั้นตอน อย่างไรก็ตามคาดว่า ในอนาคตหากได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว จะทำให้สินค้าที่ได้รับการรับรองแล้วส่งไปขายในตลาดที่สูงขึ้น ทำให้ราคาของผลผลิตดีขึ้น และรายได้กลับมาสู่ผู้ผลิตมากขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรรายอื่นที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ สามารถมาเข้าร่วมได้
ส่วนมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP คืออะไร
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า คือ มาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิตพืชผักและผลไม้ไทย โดยแบ่งได้ 3 ระดับ คือ
1. มาตรฐาน Primary ThaiGAP เป็น มาตรฐานระดับพื้นฐานสำหรับในประเทศ และระดับพื้นฐานโรงคัดบรรจุ ที่มีข้อกำหนด 6 ข้อใหญ่ 24 ข้อย่อย ที่เน้นเฉพาะระบบความปลอดภัยในการผลิต ทำให้เกษตรเข้าใจง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง ได้แก่ (1) การทำแผนการผลิต วันเก็บเกี่ยว และคาดการณ์ผลผลิต (2) การใช้น้ำในการเพาะปลูก (3) การใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย (4) การใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ (5) การเก็บเกี่ยวและจัดการหลังเก็บเกี่ยว และ (6) การบันทึกและการตามสอบ โดยมาตรฐานระดับพื้นฐานนี้จะช่วยให้เกิดระบบความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารในท้องถิ่น เกิดระบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และรองรับตลาด ร้านอาหาร ภัตตาคารโรงพยาบาลและตลาดสดในท้องถิ่น เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับกลุ่มตลาดขนาดเล็ก
2.มาตรฐาน ThaiGAP เป็น มาตรฐานระดับสูงสำหรับในประเทศ หรือโรงคัดบรรจุระดับสูง มีข้อกำหนด 17 ข้อใหญ่ 168 ข้อย่อย มีความละเอียดของข้อกำหนดตลอดห่วงโซ่ของการผลิต เพื่อความปลอดภัยของผลผลิตและผู้ผลิต สิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมทั้งสวัสดิการแรงงาน ตามมาตรฐานสากล อาทิ พื้นฐานด้านฟาร์ม เช่น ประวัติพื้นที่ การจัดการพื้นที่ การจัดการขยะมลพิษและการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น พื้นฐานด้านพืช เช่น การตามสอบ ส่วนขยายพันธุ์ การใช้ปุ๋ย ระบบการให้น้ำการให้ปุ๋ยทางน้ำ แหล่งที่มาของน้ำที่ใช้ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การจัดเก็บสารเคมีจำกัดศัตรูพืช เป็นต้น การจัดการก่อนการเก็บเกี่ยว เช่น คุณภาพน้ำที่ใช้ผสมสารเคมี การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น การเก็บเกี่ยว เช่น การบรรจุในแปลงผลิต เป็นต้น การจัดการผลผลิต เช่น หลักการด้านสุขอนามัย อุปกรณ์หรือบริเวณที่สะอาด บริเวณบรรจุและจัดเก็บ การล้างผลผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น โดยมาตรฐานระดับสูงสำหรับในประเทศนี้จะช่วยยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการระดับกลาง และรองรับตลาดผู้ค้าปลีกและค้าส่ง เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับกลุ่มตลาดขนาดกลาง
3.มาตรฐาน ThaiGAP ระดับส่งออกต่างประเทศ หรือโรงคัดบรรจุระดับสูง (หรืออาจเรียกได้ว่า Global GAP) เป็นมาตรฐานขั้นสูง มีข้อกำหนด 26 ข้อใหญ่ 234 ข้อย่อยโดยประมาณ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เทียบเท่า (benchmark) กับ Global G.A.P. มีข้อกำหนดเป็นภาษาไทย เข้าใจง่าย มีความละเอียดของข้อกำหนดตลอดห่วงโซ่ของการผลิต เพื่อความปลอดภัยของผลผลิตและผู้ผลิต สิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมทั้งสวัสดิการแรงงาน ตามมาตรฐานสากล และระดับส่งออกต่างประเทศ มาตรฐานขั้นนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ และเกิดระบบความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารระดับประเทศ เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับกลุ่มตลาดขนาดใหญ่
มาตรฐานทั้ง 3 ระดับนี้ ผู้บริโภคล้วนสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังเกษตรกรที่ทำการผลิตได้ โดยใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (QR Code) ซึ่งมีหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยของผลผลิตที่ได้บริโภค เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค