สปสช.สร้างเชื่อมั่นร่างพ.ร.บ.ใหม่
เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. พร้อมด้วยผศ.ดร.ทันตแพทย์วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง ฯ และนายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) ฯ ร่วมกันแถลงข่าว (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ไม่กระทบและไม่ลิดรอนสิทธิ ยังคงได้รับการดูแลรักษาเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม
การจัดทำร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่นี้ เป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับเดิมที่ใช้มานานกว่า 15 ปี ตามเจตนารมณ์รัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยมีสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชน แต่พบข้อขัดข้องในการบริหารหลายประการ อาทิ การใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและประสิทธิภาพของการให้บริการของหน่วยบริการสาธารณสุข และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงการปรับปรุงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้มีความยั่งยืน และให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่มาจากตัวแทนทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและเอกชน ปกครองส่วนท้องถิ่น กทม. ราชการเช่น กฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สปสช. ผู้บริหารและผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. ในประเด็นที่มีปัญหาและประเด็นอื่นที่สมควรแก้ไขเท่าที่จำเป็น โดยใช้ข้อมูลจากหลายภาคส่วน ทั้งจากการรับฟังความคิดเห็นประจำปี 2559 ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และองค์กรวิชาชีพต่างๆ มาประมวลได้ทั้งสิ้น 14 ประเด็น ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นซึ่งเปิดกว้างทุกความคิดเห็น ใน 3 รูปแบบ คือ ทาง www.lawamendment.go.th ได้ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2560 จัดเวทีประชาพิจารณ์ประชาชน 4 ภาค รวมทั้งจัดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ จากผู้แทนกลุ่มเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบให้รอบด้าน นำมาประกอบการพิจารณาทบทวนและสรุปร่าง พ.ร.บ.ฯ เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2560
ขณะนี้ ได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว 2 ภาค คือ ภาคใต้ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2560 และภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 จากนั้น เปิดเวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.ขอนแก่น ในวันที่ 17 มิถุนายน 2560 และภาคกลางที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. วันที่ 18 มิถุนายน 2560 ประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนทางเว็บไซต์http://register.nhso.go.th/publichearing หรือลงทะเบียนที่หน้างานในวันที่กำหนด