ม.ราชภัฏพระนครร่วมเบสท์แคร์ฯ
ผุดศูนย์เรียนรู้จัดการขยะ-น้ำยั่งยืน
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครร่วมกับบริษัทเบสท์แคร์อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการ“ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะเหลือศูนย์ และการจัดการน้ำเสียแบบยั่งยืน” เพื่อขยายผลการจัดการขยะอย่างถูกวิธีโดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งนอกจากนำมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดน้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น นำยาขัดห้องน้ำและอื่น ๆ แล้ว ยังสามารถช่วยด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของภาวะโลกร้อนได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดช บุญประจักษ์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวถึงแนวคิดในจัดตั้งโครงการ“ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะเหลือศูนย์ และการจัดการน้ำเสียแบบยั่งยืน” นี้ว่า ด้วยเล็งเห็นว่าปัจจุบันมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและมีการขยายตัวทางสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีปริมาณขยะ และน้ำเสียที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สุขภาพอนามัย และจิตใจ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานลดปริมาณ คัดแยกขยะเพื่อนำขยะมาใช้ประโยชน์ ณ แหล่งกำเนิด โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และประเมินผลในการจัดการปัญหาขยะ น้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิด ไม่ให้ปล่อยลุกลามขยายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯร่วมกับ บริษัทเบสท์ แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด องค์กรที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพสร้างสรรค์ (Bio Constructed Innovations Technology : BCIT)เพื่อการจัดการขยะอินทรีย์ น้ำเสียและสิ่งแวดล้อม นำโดย คุณสุกัญญา ชาญ กรรมการผู้จัดการ นายพินิจ ศรัทธาพุทธ ประธานกรรมการผู้จัดการฯพร้อมด้วย ดร.วฤชา ประจงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารการศึกษาและประกันคุณภาพและดร. ณัฐพงศ์ ส่งเนียม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทำโครงการ“ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะเหลือศูนย์ และการจัดการน้ำเสียแบบยั่งยืน”
เพื่อให้เกิดแนวทางการคัดแยกขยะ และการบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ครบวงจร ประกอบด้วย เศษอาหาร เศษผักผลไม้ นำไปรีไซเคิลแปรรูปผลิตน้ำชีวภาพ ปุ๋ยหมักชีวภาพคุณภาพสูง น้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพ สำหรับใช้ในพื้นที่ รวมถึงนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย และใช้ในด้านการเกษตรเพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัย เพื่อทำเป็นต้นแบบการจัดการขยะอินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กองทัพอากาศ สำนักงานเขตบางเขน สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลาดยิ่งเจริญ ชุมชนริมคลอง กลุ่ม Green@Heartเครือข่ายหัวใจสีเขียว วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการเป็นเวลา 3 ปี ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563
“การตั้งศูนย์เรียนรู้นี้เป็นการขยายผลต่อเนื่องหลังจากดำเนินการกับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันมีต้นแบบอยู่ 6 โรงเรียน ซึ่งการดำเนินการในโรงเรียน เป็นการดำเนินการเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทราบกระบวนการจัดการขยะแบบไหนมีประสิทธิภาพและการจัดแบบไหนที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดได้ โดยมีการออกแบบโปรแกรม เพื่อใช้ควบคุมระบบการจัดการขยะ ปริมาณข้อมูลว่า ขยะเข้ามาเป็นแบบไหน แปรรูปเป็นอย่างไรและได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร โปรแกรมจะประมวลผลตั้งแต่การนำขยะแยกประเภท สอนให้เด็กแยกขยะ นำขยะแต่ละประเภทมาชั่งน้ำหนัก ซึ่งเครื่องชั่งจะลิงค์อัตโนมัติกับระบบข้อมูลของสมาชิกได้ ทำให้นักเรียนรู้ปริมาณขยะในแต่ละวันและรายเดือนได้
ทั้งนี้ขยะของประเทศไทย แบ่งเป็น ขยะ 4 ประเภท ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไปและขยะอันตราย โดยขยะในกรุงเทพมหานคร 50% คือ ขยะอินทรีย์ ถ้าสามารถบันทึกได้ว่าแต่ละวันมีเท่าไหร่ และแปรรูปออกไปเป็นอะไรโดยไม่ได้กำจัดทิ้ง จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก ทำให้เด็ก ๆ ได้ทราบว่า ถ้าเราจัดการขยะได้ดี แปรรูปเป็นอย่างอื่นได้แล้ว ยังจะช่วยด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย คือ การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นก๊าซชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
การจัดตั้งศูนย์ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นโครงการอย่างยั่งยืน การนำขยะแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าและสร้างรายได้สู่ชุมชนต่อไป ให้ความรู้แก่ประชาชน ชุมชนเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป หลังจากนี้จะมีการพัฒนาสู่การสร้างมาตรฐานแก่ผลิตภัณฑ์ สร้างความเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค ทำให้ประชาชนและชุมชนต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ง่ายขึ้น”
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเลขที่ 9 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220โทร 02-544-8590,025448556 หรือ ทางอีเมล์ science.techno11@gmail.com