โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต นำโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผนึกกำลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมด้วยสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest 2” ชวน ‘เมกเกอร์’ หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรมรุ่นใหม่ ระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์เสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน ชิงรางวัลใหญ่ทริปร่วมงาน Maker Faire Bay Area มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต คือการสร้างความสนใจและแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม เพื่อผลิตบุคลากรในสาขานี้ให้เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยสิ่งที่โครงการฯ ดำเนินการมาตลอดสองปีที่ผ่านมาคือ การสนับสนุนวัฒนธรรมเมกเกอร์ (maker culture) หรือวัฒนธรรมทำเอง ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในสังคมไทย ผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ซึ่งมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ดำเนินการหลัก เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนได้คิดค้น ลงมือสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนให้ดีขึ้น โดยจัดขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน”
นายอาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า “สำหรับหัวข้อการประกวดในปีนี้คือ “สิ่งประดิษฐ์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน” ซึ่งเป็นประเด็นที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและมีผลต่อคุณภาพชีวิต ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งยังมีความหมายกว้างขวางและครอบคลุมหลายมิติ อาทิ การป้องกันอุบัติภัยบนท้องถนน อัคคีภัย อาชญากรรม หรือแม้แต่ภัยจากยาเสพติด จึงอยากเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายการสร้างค่านิยมด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในชุมชน ผ่านการคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมเมกเกอร์ที่ให้ความสำคัญกับการแบ่งปันและส่งต่อความรู้อีกด้วย”
ด้านนางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่หนึ่ง ในหัวข้อสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักเรียน-นักศึกษาทั้งในสายสามัญและสายอาชีพ ส่งไอเดียใหม่ๆ เข้าประกวดถึง 257 ผลงาน และมีหลายชิ้นงานที่มีแนวคิดโดดเด่น สร้างสรรค์ และสามารถนำไปใช้หรือพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพในการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศ ซึ่งเมกเกอร์รุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับในปีนี้ เชื่อว่าโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 2 จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ควบคู่ไปกับสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้หันมาสนใจศึกษาและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนของตนต่อไป”
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “จากภารกิจหลักของ อพวช. ในการกระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนปลูกฝังให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อพวช. มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย อันจะเป็นอีกทางหนึ่งเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศในเวทีโลก
สำหรับการประกวดในปีที่ 2 นี้ อพวช. จะยังคงทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ ทั้งในส่วนของการจัดการพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม รวมไปถึงการจัดพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานของเหล่าเมกเกอร์ การติดต่อประสานงานกับโรงเรียนต่างๆ ในประเทศ และการสนับสนุนทางด้านบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนให้โครงการฯ บรรลุเป้าหมายในการสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจให้กับเยาวชนในการศึกษาสาขาสะเต็ม ตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับความปลอดภัยในชุมชน”
ดร. มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา และที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง กล่าวว่า “เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การมีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ การพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะกำลังคนด้านอาชีวะให้มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานในศตวรรษที่ 21 ตอบรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต จึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการยกระดับคนอาชีวะให้มีความสามารถและทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest’ ถือเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้นักเรียน-นักศึกษาอาชีวะได้พัฒนากระบวนการคิดด้าน วทน. และลงมือทำ รวมถึงได้มีโอกาสในการใช้พลังและความสามารถของตนเองในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับชุมชนและสังคม”
โครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 2” แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียน-นักศึกษาสายอาชีพ (ระดับไม่เกิน ปวส.) และนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญ (ระดับไม่เกินปริญญาตรี) โดยเปิดรับสมัครไอเดียสิ่งประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชน ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2560
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร พร้อมดูรายละเอียดและกติกาการเข้าแข่งขัน ได้ที่ www.bangkokmakerfaire.com/ymc2 หรือเพจเฟซบุ๊ก Enjoy Science: Young Makers Contest
อนึ่ง โครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.),
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ