‘เซนเซอร์ตรวจวัณโรคดื้อยา’ เด็กไทย
แชมป์โครงงานวิทย์เยาวชนอาเซียน3
เด็กไทยนำผลงาน “เซนเซอร์ตรวจวัณโรคดื้อยาให้รวดเร็วขึ้น” ของนายภานุวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ จากโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี คว้ารางวัลที่ 1 ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Student Science Project Competition)(ASPC 2017) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23 – 27 กรกฎาคม 2560 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ชี้มประสิทธิภาพตรวจรู้ว่าดื้อยาชนิดไหน และจำเป็นต้องรักษาด้วยยาประเภทใด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 3 โดยการผนึกกำลังของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้เป็นเวทีการประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาค ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 27 กรกฎาคม 2560 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – 6 หรือเทียบเท่า จาก 7 ประเทศ ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และไทย มานำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ รวม 96 คน 35โครงงาน โดยการประกวดจะแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์
ผลปรากฏว่า นายภานุวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ จากโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี สามารถคว้ารางวัลที่ 1 ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จาก “โครงงานเซนเซอร์ตรวจวัณโรคดื้อยาให้รวดเร็วขึ้น” (A Novel Method to Rapidly Diagnose Multi-drug Resistant Tuberculosis) ” โดยนายภานุวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ ได้กล่าวถึงโครงงานนี้ว่า “ปัจจุบันการตรวจวัณโรคดื้อยานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อจำเป็นต่อการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ถูกต้องเพื่อจะทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันการตรวจหาเชื้อวัณโรคดื้อยาค่อนข้างใช้เวลานานมาก เพราะต้องรอการเจริญเติบโตของเชื้อดื้อยา ตนจึงสร้างเซนเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นของโปรตีนที่เชื้อวัณโรคได้ขับออกมา โดยสามารถรู้ว่าดื้อยาชนิดไหน และจำเป็นต้องรักษาด้วยยาประเภทใด เพื่อการรักษาที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ในส่วนของรางวัล โครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนอาเซียนแห่งปี ตกเป็นของ นายเฉา จุน เซียน,ไบรอัน จากประเทศสิงคโปร์ ในโครงงานชื่อ “การพัฒนา Glycan arrayแบบธรรมชาติที่ทำงานร่วมกับการวิเคราะห์ Mass spectrometry ที่มีการรับรู้ที่สูงขึ้น” (Development of a Natural Glycan Array Compatible With High Sensitivity Mass Spectrometry Analysis) และยังคว้าที่ 1 ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพมาครองอีกหนึ่งรางวัล
ส่วนในสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ รางวัลชนะเลิศเป็นของประเทศอินโดนีเซีย ในชื่อโครงงาน “การผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้แบคทีเรียสลายโพลิเอทิลีนในขยะถุงพลาสติก” (Generation of Electricity from Polyethylene using a Microbial Fuel Cell) เจ้าของผลงาน โดยนางสาวแองเจอริก้า เกรซ อินทาน
ดร.อภิญาณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการที่เยาวชนไทยได้รับรางวัลจากโครงการนี้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับอาเซียน อพวช. และทางสมาคมวิทย์ฯ มุ่งหวังที่จะให้เยาวชนไทยได้มีเวทีสร้างผลงานการประกวดโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งกิจกรรมนี้ยังส่งเสริมให้เยาวชนอาเซียนได้ใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์แนวคิดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปบูรณาการแก้ไขปัญหาได้ในชีวิตประจำวัน ในประเทศของตน ตลอดจนในภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย”