แนะอาเซียนพัฒนา-สร้างมาตรฐาน
สินค้าเกษตรอินทรีย์..สู่ตลาดโลก
ผู้บริหารNurnbergMesse GmbH บริษัทจัดงานแสดงสินค้าชั้นนำระดับโลกของเยอรมนี มองโอกาสสินค้าอินทรีย์ในอาเซียน สู่ตลาดโลก เป็นไปได้ แต่ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน ชี้สัดส่วนสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีเล็กน้อย จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เช่นเดียวกับในอาเซียนและภูมิภาคอื่น แนะพัฒนาตลาดเกษตรอินทรีย์ ด้วยการสร้างความตะหนักรู้ให้ความรู้และการศึกษาแก่เกษตรกร ผู้บริโภค เน้นสร้างอุตสาหกรรมในท้องถิ่น เน้นตลาดภายในภูมิภาค สร้างมาตรฐานให้มีใบรับรองเป็นที่ยอมรับ เพื่อก้าวสู่ตลาดโลก อีกทั้งคำนึงถึงความยั่งยืน ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์สู่คนรุ่นต่อไป
Mr. Markus Reetz Excutive Director of NurnbergMesse GmbH บริษัทจัดงานแสดงสินค้าชั้นนำระดับโลกสัญชาติเยอรมันกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “โอกาสของสินค้าอินทรีย์ในอาเซียน สู่ตลาดโลก” ในงานสัมมนาวิชาการ “Organic Symposium 2017” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Organic & Natural Expo 2017” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากสัดส่วนการผลิตยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรโดยรวม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีเพียง 0.1% ของปริมาณผลิตผลทางการเกษตรทั้งหมดทั่วโลก
สำหรับในภูมิภาคเอเชีย พื้นที่เกษตรอินทรีย์มีประมาณ 4.0 ล้านเฮกตาร์ ในขณะที่ 5.6 ล้านเฮกตาร์(เท่ากับ 6 ไร่ 1 งาน) เป็นพื้นที่การเกษตรแบบผสม ถือว่า พื้นที่เกษตรอินทรีย์มีสัดส่วนเพียง 1.1% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของโลก ซึ่งถือว่า น้อยมาก อย่างไรก็ดีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การทำเกษตรอินทรีย์มีการเติบโตเป็นพื้นที่ประมาณ 620 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็น 1.4% ของพื้นที่การเกษตรทั่วโลก
ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 513 เฮกตาร์ มีเกษตรกรจำนวนประมาณ 197,000 ราย ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีก ซึ่งจากเปรียบเทียบช่วงปี 2014-2014 และ 2016-2017 พบว่า ในอาเซียน ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เติบโตมากที่สุดถึง 113% ตามมาเป็นเวียดนามเติบโต 78%
ด้านไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เติบโตมาเป็นอันดับ 3 มีสัดส่วน 21% แต่จำนวนผู้ผลิตไม่เปลี่ยนแปลง และยังมีพื้นที่อีกมากให้พัฒนา ด้านอินโดนีเซียเติบโต 14% เมียนมาและลาวโต 3% บรูไน ไม่โต มาเลเซียเท่าเดิม และสิงคโปร์ไม่มีข้อมูล
ทั้งนี้Mr. Reetz ชี้ว่า ไทยถือเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนได้จากในงานแสดงนิทรรศการสินค้าเกษตรอินทรีย์มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและในประเทศยังมีพื้นที่เปิดให้เข้าร่วมได้มากกว่านี้ ซึ่งการเข้าร่วมจะต้องมีใบรับรอง อย่างไรก็ตามหากอาเซียนจะก้าวออกสู่ตลาดโลก จะต้องมั่นใจว่า มีใบรับรองที่โลกยอมรับ
เมื่อมองในแง่ของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้จะมีตลาดสำคัญ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป(EU) แต่ Mr.Reetz เน้นย้ำให้ผู้พัฒนาเกษตรอินทรีย์ ต้องให้ความสำคัญกับตลาดท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งน่าสนใจมากกว่าการส่งออกเสียอีก โดยแนะว่า ผู้ประกอบการต้องมองหาตลาดที่จะสามารถขายได้มาก จึงต้องมองตลาดภายในด้วย ซึ่งมีหลายประเทศกำลังทำอยู่ เน้นสร้างความตระหนักรู้ พัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่น เน้นตลาดภายในภูมิภาคเอเชีย และจะมาตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่เติบโตได้ดี นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาตลาดภายในของตัวเอง สร้างความตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ให้มีทัศนคติดที่ดี ให้ความรู้และการศึกษาด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์แก่ผู้บริโภค มีการสร้างมาตรฐานมีใบรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อออกสู่ตลาดโลก”
สำหรับปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่เป็นความท้าทายของทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในอาเซียนคือ แนวทางสำหรับอนาคต สู่ความยั่งยืน โดยการส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่
“ต้องพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ ทำให้เกษตรกร ผู้ประกอบการมองเห็นว่า การทำยอดขายให้ได้มากเป็นความท้าทาย อุตสาหกรรมอาหารไม่ได้เลวร้าย แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ เพื่อสร้างโลกและส่งต่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป”
อนึ่ง NurnbergMesse GmbH คือ บริษัทจัดแสดงสินค้าของเยอรมันที่ติดอันดับ 1 ใน 15 บริษัทจัดแสดงสินค้าใหญ่ที่สุดในโลก โดยในทุก ๆ ปี NürnbergMesse GmbH เป็นผู้จัดงำนแสดงสินค้าทั้งนานาชาติและในประเทศมากกว่า 120 งาน ส่วนงาน “Organic & Natural Expo 2017” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ขอบคุณภาพประกอบจาก-https://www.facebook.com/Organic-Natural-Expo