ก.วิทย์/อพวช. เคลื่อนคาราวานวิทย์
แหล่งเรียนรู้วิทย์นอกห้องเรียน จ.ตรัง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับโรงเรียน วิเชียรติมาตุ จังหวัดตรัง จัดคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สนุกและสร้างสรรค์จินตนาการกับกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย ในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรมเคลื่อนที่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน สู่การต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมให้กับประเทศ ในวันที่ 8 – 11 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง
ดร.ดรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความมุ่งมั่นในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับประเทศ พร้อมมุ่งสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเด็ก ๆ นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมุ่งเน้นการกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดความสนใจใฝ่รู้เกิดความรู้ และความเข้าใจ ในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ที่ อพวช. ต. คลองห้า จ.ปทุมธานี ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้บริการแล้วกว่า 3 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะเดียวกัน ยังมีหอดูดาวกว่า 5 แห่งกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมยังมี Space Inspirium เพื่อการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ศรีราชา จ.ชลบุรี อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่อีก 2 แห่งที่ อพวช. คือ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวคิดการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือฟิวเจอร์เรียม แหล่งเรียนรู้แนวใหม่ที่จะเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงเตรียมตัวประชาชนให้ตั้งรับและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมและทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอีก 25 ปีข้างหน้า โดยนำอุตสาหกรรม 5+5 มาพัฒนาเป็นนิทรรศการ รวมถึงอาชีพในอนาคตอีก 100 อาชีพที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย โดยเฉพาะอาชีพในสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกำลังคนที่ประเทศชาติต้องการและขาดแคลนอย่างหนัก ซึ่งแหล่งเรียนรู้ทั้งหมดในพื้นที่ของ อพวช. เหล่านี้ มีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท และหากแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะกลายเป็นย่านแห่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์แบบและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ในขณะที่กิจกรรม คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่สามารถตอบโจทย์การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคมได้อย่างดียิ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพราะเป็นกิจกรรมที่เข้าถึงเยาวชนได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเริ่มจากจุดประกายความสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งความรู้ และความสนุกสนาน เพื่อนำไปสู่การอยากเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นอาจจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี ที่ อพวช. ได้เริ่มออกเดินทางจัดกิจกรรม คาราวานวิทยาศาสตร์ เรามีความพยายามจะไปจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมขนาดใหญ่ใช้พื้นที่เต็มหอประชุม และห้องจัดกิจรรมโดยรอบพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นประจำจังหวัดในการใช้พื้นที่จัดแสดง แม้แต่ในถิ่นทุรกันดาร อพวช. เองก็เพิ่มสายการจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ เป็นรถขนาดเล็กที่มีนิทรรศการและกิจกรรมเพื่อสะดวกในการขนย้ายขึ้นงานไปจัดแสดง เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้เพิ่มพูนประสบการณ์แปลกใหม่ พร้อมทั้งได้ค้นหาคำตอบจากนิทรรศการด้วยตนเอง ควบคู่กับการเล่นอย่างสนุกสนานอีกด้วย
โดย กิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ที่กำลังจัดแสดงนั้น ประกอบไปด้วยนิทรรศการวิทยาศาสตร์แบบสื่อสัมผัส ชุด Wit in Case ที่สร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานด้านกลศาสตร์ แม่เหล็กไฟฟ้า ปฎิกิริยาตอบสนองการมองเห็น คณิตศาสตร์ แสง สี เสียง และการแก้ปัญหากับชิ้นงานกว่า 60 ชิ้น พร้อมด้วยนิทรรศการEnjoy Science Careers (สนุกกับอาชีพวิทย์) กว่า 10 อาชีพ ในสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นความสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ กิจกรรม Maker Space กิจกรรมสร้างสรรค์จินตนาการ พัฒนาระบบความคิดไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ในอนาคต กิจกรรมวิทยาศาสตร์สุดหรรษา สนุกคิด ประดิษฐ์ ทดลอง ท้าทายความสามารถและจินตนาการผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ อาทิ จรวดหลอด, ลูกบอล ค้างฟ้า, 180 ไอคิว เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องดาว กลุ่มดาว การดูทิศทาง ตำแหน่งของเราบนพื้นโลกเทียบกับดวงดาว การจินตนาการบนท้องฟ้า และเรื่องราวตำนานแห่งดาราศาสตร์ ไปกับเครื่องฉายภาพยนตร์ในระบบ 3 มิติแบบ Full dome ลงมือทำการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองกับ ห้องปฎิบัติการเคลื่อนที่ ในตอนคนแกล้งดิน และร้อยเสียงหรรษา สนุกตื่นตาไปกับ การแสดงทางวิทยาศาสตร์ ตอนสนุกกับการเคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 14 รอบคัดเลือกในระดับภูมิภาค ที่จะไปจัดการแข่งขันตามจังหวัดต่าง ๆ ภายในกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. อีกด้วย
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 577 9999 ต่อ2109 และ 2123 หรือติดตามได้ที่ www.nsm.or.th